เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/06989
วันที่: 16 กรกฎาคม 2542
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจัดทำใบกำกับภาษี และใบเพิ่มหนี้ สำหรับกิจการประกันวินาศภัย
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1, มาตรา 82/9, มาตรา 86
ข้อหารือ: บริษัทฯ ประกอบกิจการประกันวินาศภัยซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา
77/2 แห่งประมวลรัษฎากร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2542 เป็นต้นไป ในการดำเนินธุรกิจการ
ประกันวินาศภัยอาจจะมีการเพิ่มวงเงินประกันจากกรมธรรม์ฉบับเดิม เนื่องจากเพิ่มทุนประกัน เพิ่มวัตถุที่
เอาประกัน หรือเพิ่มอัตราเบี้ยประกัน ดังนี้
(1) บริษัทฯ รับประกันภัยบ้าน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2542 จำนวนเงินเอาประกันตาม
กรมธรรม์ 1,200,000 บาท ต่อมามีความประสงค์เพิ่มวงเงินเอาประกันอีก 500,000 บาท รวมเป็น
1,700,000 บาท
(2) บริษัทฯ รับประกันภัยบ้าน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2542 จำนวนเงินเอาประกันตาม
กรมธรรม์ 1,200,000 บาท จ่ายเบี้ยประกัน 1,500 บาท ต่อมาใช้บ้านอาศัยเป็นร้านค้า จึงต้องเสีย
เบี้ยประกันภัยในอัตราเพิ่ม (%) หมายความว่า จำนวนเงินเอาประกันเท่าเดิม คือ 1,200,000 บาท
แต่ต้องจ่ายเบี้ยประกันเพิ่มขึ้นเป็น 1,800 บาท
(3) จากกรณีตาม (2) นอกจากใช้บ้านเป็นร้านค้าแล้ว ผู้เอาประกันเพิ่มวัตถุที่เอาประกัน
ด้วย คือ เพิ่มประกันภัยสต็อกสินค้าผ้า วงเงิน 500,000 บาท รวมกับวงเงินตามกรมธรรม์เดิมอีก
1,200,000 บาท เป็น 1,700,000 บาท
กรณีตาม (1) - (3) ผู้ประกอบการจัดทำเอกสาร "ใบสลักหลัง" อีก 1 ฉบับ ให้แก่
ผู้เอาประกัน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
(ก) ใบสลักหลังเลขที่... และกรมธรรม์เลขที่...
(ข) ชื่อ ที่อยู่ ผู้เอาประกัน
(ค) วันที่ที่ทำใบสลักหลัง วันเริ่มคุ้มครองตามวงเงินประกันใหม่ และระยะเวลาสิ้นสุด
(ง) จำนวนเงินเอาประกันตามกรมธรรม์ฉบับสลักหลัง
(จ) จำนวนที่เพิ่มขึ้น/ลดลง (ส่วนต่าง)
(ฉ) รายละเอียดเกี่ยวกับเบี้ยประกัน ได้แก่ อัตรา% (ปกติ) อัตราเพิ่ม % จำนวนเงินที่
เพิ่ม/คืน เบี้ยประกันภัยสุทธิ และอากรแสตมป์
(ช) เลขรหัสประเภทประกันภัย เช่น ประกันภัยตนเอง บุคคลที่สาม เป็นต้น
บริษัทฯ ขอทราบว่า จะต้องจัดทำใบกำกับภาษีหรือใบเพิ่มหนี้ หรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. กรณีเพิ่มวงเงินประกันตาม (1) เป็นกรณีคุ้มครองทรัพย์สินเดิมซึ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น
ทำให้ผู้รับประกันมีความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นตามวงเงินประกันใหม่ และกรณีเพิ่มวัตถุที่เอาประกันตาม (3)
เป็นกรณีคุ้มครองทรัพย์สินใหม่เพิ่มขึ้นจากทรัพย์สินเดิม ทำให้ผู้รับประกันมีความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นตาม
วงเงินประกันของทรัพย์สินใหม่นั้น แต่ทั้งสองกรณีต้องรับผิดชอบตั้งแต่วันเริ่มคุ้มครองตามวงเงินประกัน
ใหม่เป็นต้นไป กรณีตามข้อเท็จจริง เข้าลักษณะเป็นการให้บริการใหม่ตามมาตรา 77/1 (10) แห่ง
ประมวลรัษฎากร ผู้ประกอบการต้องจัดทำใบกำกับภาษีให้แก่ผู้เอาประกันตามมาตรา 86 แห่ง
ประมวลรัษฎากร
2. กรณีเพิ่มเบี้ยประกันตาม (2) เป็นกรณีคุ้มครองทรัพย์สินเดิม วงเงินประกันเดิม ความ
รับผิดชอบเท่าเดิม แต่เพิ่มอัตราเบี้ยประกัน ผู้เอาประกันต้องรับภาระค่าเบี้ยประกันมากขึ้น กรณีตาม
ข้อเท็จจริง จึงไม่ใช่การให้บริการใหม่ แต่เป็นบริการเดิมซึ่งมีการเพิ่มราคาค่าบริการ ผู้ประกอบการ
ต้องจัดทำใบเพิ่มหนี้ตามมาตรา 82/9 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 62/28035

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020