เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/07656
วันที่: 30 กรกฎาคม 2542
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสถานประกอบการของกิจการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1, มาตรา 77/2, มาตรา 86, มาตรา 81/2, มาตรา 82/5, มาตรา 85, มาตรา
85/6, มาตรา 85/7
ข้อหารือ: บริษัท ก จำกัด เช่าอาคาร ถนนสีลม เพื่อประกอบกิจการให้เช่าช่วงพื้นที่อาคารและ
ให้บริการรักษาความปลอดภัย สาธารณูปโภคแก่ผู้เช่าช่วง โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. บริษัทฯ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2534 ระบุว่า ให้บริการ
รับเหมาก่อสร้างและให้เช่าสำนักงาน ต่อมาบริษัทฯ เช่าอาคาร ถนนมเหสักข์ เพื่อให้เช่าช่วง และ
ให้บริการรักษาความปลอดภัย สาธารณูปโภคแก่ผู้เช่าช่วง โดยไม่มีสำนักงานในอาคาร และไม่มีบุคลากร
ดำเนินการในอาคารดังกล่าว ในเบื้องต้นไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
2. การให้บริการสาธารณูปโภคแก่ผู้เช่าช่วง รัฐวิสาหกิจได้ออกใบกำกับภาษีให้แก่บริษัทฯ
2 ลักษณะ คือ ระบุชื่อบริษัทฯ ที่อยู่ ถนนสีลม และระบุชื่อบริษัทฯ ที่อยู่ ถนนมเหสักข์ เมื่อบริษัทฯ
เรียกเก็บค่าบริการรักษาความปลอดภัยและสาธารณูปโภคจากผู้เช่าช่วงในอาคาร ถนนมเหสักข์ บริษัทฯ
จะออกใบกำกับภาษีระบุชื่อบริษัทฯ และที่อยู่ คือ ที่ตั้งของสถานประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
(ถนนสีลม) แต่ในปี พ.ศ. 2541 เจ้าหน้าที่ของสำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ ตรวจปฏิบัติการและแจ้งให้
บริษัทฯ ทราบว่า กรณีบริษัทฯ เช่าอาคารเพื่อให้เช่าช่วงและให้บริการสาธารณูปโภค ถือว่าอาคารเช่า
ดังกล่าวเป็นสถานประกอบการ บริษัทฯ ต้องยื่นแบบแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.09)
แจ้งเพิ่มสถานประกอบการ และจัดทำใบกำกับภาษีค่าสาธารณูปโภคเป็นรายสถานประกอบการบริษัทฯ
จึงยื่นแบบ ภ.พ.09 แจ้งว่า อาคาร ถนนมเหสักข์ เป็นสถานประกอบการอีกแห่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 31
สิงหาคม 2541 หลังจากนั้น บริษัทฯ ออกใบกำกับภาษีเรียกเก็บค่าสาธารณูปโภคจากผู้เช่าช่วง โดยระบุ
ที่อยู่ ถนนมเหสักข์ ตามสถานประกอบการที่แจ้งเพิ่ม
3. บริษัทฯ ยื่นแบบคำขอยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.02) ขออนุมัติยื่น
แบบแสดงรายการและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มรวมกัน ณ สถานประกอบการที่สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ และ
สรรพากรพื้นที่ ได้อนุมัติให้บริษัทฯ ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มรวมกัน ตั้งแต่เดือน
ตุลาคม 2541 เป็นต้นไป
4. ต่อมาบริษัทฯ ได้ทราบว่า การให้เช่าอาคารโดยมีการให้บริการสาธารณูปโภค แต่มิได้
มีการจัดสถานที่หรือจัดบุคคลใดกระทำการขายหรือให้บริการในห้องเช่าดังกล่าวเป็นประจำแต่ละห้อง
และมิได้ใช้พื้นที่ของอาคารเป็นสำนักงาน ไม่เข้าลักษณะเป็นสถานประกอบการตามมาตรา 77/1 (20)
แห่งประมวลรัษฎากร
บริษัทฯ จึงขอทราบว่า
1. บริษัทฯ จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับอาคารที่มีไว้ให้เช่าด้วยหรือไม่
2. บริษัทฯ ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มสาขาอีกแห่งหนึ่งไปแล้ว และขออนุมัติยื่น
แบบแสดงรายการและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มรวมกัน ณ สำนักงานใหญ่ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2541 เป็นต้นมา
บริษัทฯ ควรดำเนินการอย่างไร
แนววินิจฉัย: 1. กรณีบริษัทฯ มีสำนักงานตั้งอยู่ ถนนสีลม และให้เช่าช่วงพื้นที่ในอาคาร เข้าลักษณะเป็น
การให้บริการเช่าอสังหาริมทรัพย์ ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1) (ต) แห่ง
ประมวลรัษฎากรแต่กรณีบริษัทฯ ให้บริการสาธารณูปโภคแก่ผู้เช่าช่วงในอาคาร เข้าลักษณะเป็นการ
ให้บริการตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา
77/2 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อบริษัทฯ ใช้อาคารดังกล่าวเป็นสถานประกอบการเพื่อให้บริการรักษา
ความปลอดภัย และสาธารณูปโภค จึงต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 85 แห่งประมวลรัษฎากร
2. กรณีบริษัทฯ เช่าอาคาร ถนนมเหสักข์ เพื่อให้เช่าช่วงพื้นที่ในอาคาร เข้าลักษณะเป็น
การให้บริการเช่าอสังหาริมทรัพย์ ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1) (ต) แห่ง
ประมวลรัษฎากรบริษัทฯ ไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับอาคารดังกล่าวตามมาตรา 81/2 แห่ง
ประมวลรัษฎากร และกรณีบริษัทฯ ให้บริการรักษาความปลอดภัยและสาธารณูปโภคแก่ผู้เช่าช่วงในอาคาร
ด้วย โดยบริษัทฯ ไม่มีสำนักงานในอาคารและไม่มีบุคลากรดำเนินการในอาคารนั้น อาคารที่ให้บริการ
ดังกล่าวจึงไม่เป็นสถานประกอบการตามมาตรา 77/1 (20) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ไม่ต้องแจ้ง
เปิดสถานประกอบการเพิ่มเติมตามมาตรา 85/7 แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ต้องแจ้ง
เพิ่มประเภทการให้บริการตามมาตรา 85/6 แห่งประมวลรัษฎากร
3. กรณีบริษัทฯ ชำระค่าสาธารณูปโภค และได้รับใบกำกับภาษีระบุชื่อบริษัทฯ แต่ระบุที่อยู่
ตามอาคารที่ให้เช่าตาม 2. บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีซื้อไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
ของสถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ตาม 1. ได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 82/5 (2) แห่ง
ประมวลรัษฎากร
4. กรณีบริษัทฯ ออกใบกำกับภาษีเรียกเก็บค่าบริการรักษาความปลอดภัย และค่า
สาธารณูปโภคจากผู้เช่าช่วงอาคาร ถนนมเหสักข์ บริษัทฯ ต้องระบุที่อยู่ของสถานประกอบการที่เป็น
สำนักงานใหญ่ และนำไปถือเป็นยอดขายของสำนักงานใหญ่
5. กรณีบริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.พ.09 แจ้งเพิ่มสถานประกอบการอาคาร ถนนมเหสักข์ และ
ขออนุมัติยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มรวมกัน ณ สถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่
ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2541 เป็นต้นมา ให้บริษัทฯ ติดต่อกับสรรพากรพื้นที่ เพื่อดำเนินการดังนี้
5.1 ยื่นแบบ ภ.พ.09 แจ้งปิดสถานประกอบการอาคาร เลขที่ 88 ถนนมเหสักข์
5.2 ยื่นแบบคำขอยกเลิกการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มรวมกัน
เลขตู้: 62/28100

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020