เมนูปิด

กฎกระทรวง

ฉบับที่ 225 (พ.ศ. 2542)

ออกตามความในประมวลรัษฎากร

ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้

 

---------------------------------------------

 

                อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2513 และมาตรา 65 ทวิ (9) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวล รัษฎากร (ฉบับที่ 25) พ.ศ. 2525 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

 

                ข้อ 1  ให้ยกเลิกความในข้อ 6 ทวิ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ซึ่งแก้ไข เพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 212 (พ.ศ. 2541) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                      “ข้อ 6 ทวิ  การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของเจ้าหนี้ซึ่งเป็นสถาบันการเงิน ในส่วนของหนี้ที่เจ้าหนี้ดังกล่าวได้ปลดหนี้ให้ลูกหนี้ในระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2542 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2544 อันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด ให้ กระทำได้โดยไม่ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ในข้อ 4 ข้อ 5 หรือข้อ 6

                            “สถาบันการเงิน”หมายความว่า

                            (1) ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์

                            (2) บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ตาม กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์

                            (3) บริษัทบริหารสินทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์

                            (4) นิติบุคคลอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี”

 

                ข้อ 2  ให้ยกเลิกความในข้อ6จัตวา แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ซึ่งแก้ไข เพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 218 (พ.ศ. 2542) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                      “ข้อ 6 จัตวา  การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของเจ้าหนี้อื่น ในส่วนของ หนี้ที่ได้ปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ อันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของเจ้าหนี้อื่น ซึ่งได้ ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยนำหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการ เงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดมาใช้โดยอนุโลม ให้กระทำได้โดยไม่ต้อง ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ในข้อ 4 ข้อ 5 หรือข้อ 6 ทั้งนี้ เฉพาะการปลดหนี้ที่ได้กระทำใน ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2542 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2544

                            “สถาบันการเงิน” หมายความว่า

                            (1) ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์

                            (2) ธนาคารออมสิน

                            (3) บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ตาม กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์

                            (4) สถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้ กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม

                            (5) บริษัทบริหารสินทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์

                            (6) นิติบุคคลอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี

                            “เจ้าหนี้อื่น” หมายความว่า เจ้าหนี้ที่มิใช่สถาบันการเงิน ซึ่งได้ดำเนินการ เจรจาร่วมกับสถาบันการเงินในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ และได้ทำความตกลง เป็นหนังสือร่วมกับเจ้าหนี้ซึ่งเป็นสถาบันการเงิน

                            “ลูกหนี้” หมายความว่า ลูกหนี้ของเจ้าหนี้อื่น ซึ่งเป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงิน ด้วย และให้หมายความรวมถึงผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ด้วย”

 

                ข้อ 3  ให้ยกเลิกความในวรรคสามของข้อ 6 เบญจ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชี ลูกหนี้ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 221 (พ.ศ. 2542) ออกตามความใน ประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                      ““สถาบันการเงิน” หมายความว่า

                      (1) ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์

                      (2) บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ตาม กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์

                      (3) บริษัทบริหารสินทรัพย์ที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหาร สินทรัพย์หรือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินถือหุ้นโดยตรงหรือโดยอ้อม เกินกว่าร้อยละ 50 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง ทั้งนี้ การถือหุ้นโดยอ้อมให้เป็นไป ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

                      (4) นิติบุคคลอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี”

 

                ข้อ 4   กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่สิ้นสุดในหรือหลัง วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2542 เป็นต้นไป

 

ให้ไว้ ณ วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2542

 

พิเชษฐ พันวิชาติกุล

รัฐมนตรีว่าการฯปฏิบัติราชการแทน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

 

___________________________________________________________________

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากประเทศไทย ประสบภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจอันส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาค เอกชน ทำให้สถาบันการเงินและเจ้าหนี้อื่นต้องปรับปรุง โครงสร้างหนี้เพื่อให้สอดคล้อง กับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ ซึ่งได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจาก บัญชีลูกหนี้ เพื่อให้สถาบันการเงินและเจ้าหนี้อื่นที่เจรจาและตกลงปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ร่วมกับสถาบันการเงินสามารถจำหน่ายหนี้สูญที่เกิดจากการปลดหนี้จากบัญชีลูกหนี้ได้ แต่ โดยที่ในขณะนี้การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินและเจ้าหนี้อื่นดังกล่าวยัง ดำเนินการไม่เสร็จสิ้น จำเป็นต้องขยายระยะเวลาในการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่อไป อีกระยะหนึ่ง ประกอบกับการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีดังกล่าวไม่ครอบคลุมถึงบริษัท บริหารสินทรัพย์ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 ทำให้การปรับปรุง โครงสร้างหนี้ของบริษัทบริหารสินทรัพย์และเจ้าหนี้อื่นที่เจรจาและตกลงปรับปรุงโครงสร้าง หนี้ร่วมกับบริษัทบริหารสินทรัพย์ไม่ได้รับสิทธิในการจำหน่ายหนี้สูญที่เกิดจากการปรับปรุง โครงสร้างหนี้ดังกล่าวได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ของสถาบันการเงิน เจ้าหนี้อื่น และบริษัทบริหารสินทรัพย์ สมควรขยายระยะเวลาการให้ สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่สถาบันการเงินและเจ้าหนี้อื่นในการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ออกไปจนถึงปี พ.ศ. 2544 และสมควรกำหนดให้บริษัทบริหารสินทรัพย์และเจ้าหนี้อื่นที่ เจรจาและตกลงปรับปรุงโครงสร้างหนี้ร่วมกับบริษัทบริหารสินทรัพย์สามารถจำหน่ายหนี้สูญ จากบัญชีลูกหนี้ และสมควรกำหนดให้บริษัทบริหารสินทรัพย์สามารถตัดจำหน่ายลูกหนี้จัดชั้นสูญ และลูกหนี้จัดชั้นสงสัยจะสูญที่ได้กันเงินสำรองครบร้อยละ 100 เป็นหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ได้ เช่นเดียวกับสถาบันการเงิน จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

 

(ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 116 ตอนที่ 137 ก วันที่ 30 ธันวาคม 2542)

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022