เลขที่หนังสือ | : กค 0811/07770 |
วันที่ | : 3 สิงหาคม 2542 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่คืนหรือลดภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้บริโภค |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 77/1(10), มาตรา 78 |
ข้อหารือ | : ตามที่นาย ก. ได้มีหนังสือร้องเรียนเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการโทรศัพท์ เคลื่อนที่ของ บริษัท A จำกัด (มหาชน) (หรือบริษัท AIS) ไม่คืนหรือลดภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้บริโภค โดยบริษัทฯ ยังคงเรียกเก็บภาษีในอัตราเดิมคือร้อยละ 10 สำหรับค่าบริการที่ชำระตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2542 และท่านได้สอบถามเรื่องดังกล่าวไปยังบริษัท AIS ได้รับคำชี้แจงว่า บริษัทฯ จำเป็น ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 10 แม้ว่าจะได้ชำระค่าบริการหลังวันที่ 1 เมษายน 2542 เพราะบริษัทฯ ได้ออกใบกำกับภาษีล่วงหน้าไว้แล้วตั้งแต่เดือนมีนาคม 2542 อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในขณะ นั้นยังคงเป็นร้อยละ 10 บริษัทฯ จึงต้องเก็บเงินจากลูกค้าตามนั้นไม่สามารถแก้ไขได้ ซึ่งนาย ก. เห็นว่าคำชี้แจงของบริษัทฯ ไม่ชอบด้วยเหตุผลเนื่องจากการที่บริษัทฯ ออกใบกำกับภาษีล่วงหน้า หรือได้มี การชำระภาษีมูลค่าเพิ่มแทนผู้ใช้บริการไปแล้วในอัตราร้อยละ 10 เป็นการกระทำของบริษัทฯ เองท่าน ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องด้วย ท่านมีหน้าที่ที่จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราที่กฎหมายกำหนดในวันชำระ ค่าบริการ คือ ร้อยละ 7 เท่านั้น หากต้องมีการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษี (ร้อยละ 10) ส่วนที่เกินจากร้อยละ 7 ต้องเป็นหน้าที่ของบริษัทฯ รับภาระเองมิใช่ผลักภาระให้ผู้ใช้บริการ จึงหารือว่า 1.1 การออกใบกำกับภาษีล่วงหน้าก่อนที่จะมีการชำระเงินจากผู้ใช้บริการ หรือการที่ บริษัทฯชำระภาษีมูลค่าเพิ่มไปก่อนแล้วเรียกเก็บจากลูกค้าภายหลังนั้น บริษัทฯ ทำได้หรือไม่ 1.2 กรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในกรณีนี้เท่าใด 1.3 หากกรมสรรพากรจำเป็นต้องเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบแจ้งหนี้ในอัตราร้อยละ 10 ตามที่บริษัทฯ กล่าวอ้าง ภาษีในส่วนที่เกินร้อยละ 7 บริษัทฯ ต้องเป็นผู้รับภาระใช่หรือไม่ |
แนววินิจฉัย | : 1. มาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลด อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 353) พ.ศ. 2542 ได้กำหนดให้ใช้อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7.0 สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณี ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2542 ถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2544 ดังนั้น ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับ บริการซึ่งได้รับใบกำกับภาษีที่ออกตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2542 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2544 จึงต้องเสีย ภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 การให้เช่าเลขหมายประจำเดือนและการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัท AIS ตาม ข้อเท็จจริงข้างต้น เข้าลักษณะเป็น "การให้บริการ" ตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการให้บริการจึงเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระค่าบริการ เว้นแต่กรณีที่มี การออกใบกำกับภาษีหรือได้ใช้บริการไม่ว่าโดยตนเองหรือบุคคลอื่น ก็ให้ถือว่าความรับผิดในการเสีย ภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อได้มีการกระทำนั้น ๆ ด้วย ทั้งนี้ ตามมาตรา 78/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีบริษัทฯ AIS ออกใบแจ้งหนี้/ใบกำกับภาษี ก่อนวันที่ 1 เมษายน 2542 ซึ่ง พระราชกฤษฎีกาฯ ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 353) พ.ศ. 2542 ยังไม่มีผลใช้บังคับ ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจึงเกิดขึ้นเมื่อวันที่บริษัทฯ ออกใบแจ้งหนี้/ใบกำกับภาษี บริษัทฯ ต้อง เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 10.0 จากผู้ใช้บริการ และต้องยื่นแบบ ภ.พ.30 เพื่อเสีย ภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 10.0 ในเดือนภาษีที่ความรับผิดเกิดขึ้น แม้ว่าบริษัทฯ จะยังไม่ได้รับชำระ ค่าบริการและภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ใช้บริการก็ตาม และเมื่อผู้ใช้บริการนำเงินมาชำระไม่ว่าก่อนหรือหลัง วันที่ 1 เมษายน 2542 บริษัทฯ มีสิทธิเรียกเก็บเงินค่าภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 10.0 ของ ค่าบริการตามมูลหนี้ในใบแจ้งหนี้/ใบกำกับภาษีที่ได้ออกไปล่วงหน้าแล้วนั้น ดังนั้น การออกใบกำกับภาษี ก่อนที่จะมีการชำระเงินจากผู้ใช้บริการ บริษัทฯ จึงมีสิทธิที่จะทำได้ตามกฎหมาย 2. กรณีตามข้อเท็จจริง ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 เมษายน 2542 ดังนั้น กรมสรรพากรจึงเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการจดทะเบียนในอัตราร้อยละ 10.0 3. ภาษีขายในส่วนที่เกินกว่าร้อยละ 7.0 บริษัทฯ มีสิทธิที่จะเรียกเก็บจากนาย ก. ได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร กรณีที่บริษัทฯ จะรับภาระดังกล่าวไว้เองหรือจะเรียบเก็บ เพิ่มเติมจากท่านย่อมเป็นสิทธิของบริษัทฯ ที่จะทำความตกลงกับท่าน |
เลขตู้ | : 62/28124 |