เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ.08668
วันที่: 23 สิงหาคม 2542
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติม
ข้อกฎหมาย: มาตรา 82/4, มาตรา 89(3)(4), มาตรา 89/1
ข้อหารือ: ธนาคาร ก. ได้ทำสัญญาลงวันที่ 4 สิงหาคม 2540 ตกลงซื้อขายเครื่องพิมพ์ เคลือบวาร์นิช
กับบริษัท A (ประเทศไทย) จำกัด ในราคา 38,426,542.06 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราร้อยละ 7
จำนวน 2,689,857.94 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 41,116,400.00 บาท ซึ่งบริษัทฯ ได้ดำเนินการ
ส่งมอบสินค้าพร้อมเอกสารใบกำกับภาษี/ใบส่งของ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2541 เรียกเก็บเงินจำนวน
41,116,400 บาท และบริษัทได้ยื่นคำขอรับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 (ภ.พ.03.6)
ซึ่งต่อมาได้มีหนังสือแจ้งบริษัทฯว่า ธนาคาร ก. ไม่ได้เป็นหน่วยงานของรัฐ จึงไม่ได้รับสิทธิเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ต่อไป และบริษัทฯ ได้แจ้งให้ธนาคารชำระภาษีมูลค่าเพิ่มส่วนที่
เรียกเก็บเพิ่มเติมกับบริษัทฯ ซึ่งประกอบด้วยรายการภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องเสียเพิ่มเติมจากอัตราร้อยละ
7.0 เป็นร้อยละ 10.0 เงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือน และเบี้ยปรับ 50% รวมเป็นเงินทั้งสิ้น
1,936,697.67 บาท ธนาคาร ก. จึงหารือว่า ค่าภาษีที่ต้องชำระเพิ่มเติมดังกล่าวเป็นภาระของผู้ใด นั้น
แนววินิจฉัย: 1. กรณีภาษีมูลค่าเพิ่มที่เรียกเก็บเพิ่มเติมอีกร้อยละ 3.0 ของฐานภาษีเป็นกรณี
ผู้ประกอบการได้ขายสินค้า โดยมีการส่งมอบสินค้า ชำระราคา และออกใบกำกับภาษี หลังวันที่ 16
สิงหาคม 2540 จึงถือว่าความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นหลังจากมีพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่
309) พ.ศ. 2540 ที่ให้จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 10 ดังนั้น ผู้ประกอบการขายสินค้าจึง
มีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติมอีกร้อยละ 3.0 ทั้งนี้ ตามมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร
2. กรณีเบี้ยปรับและเงินเพิ่มที่ผู้ขายสินค้าได้ชำระเป็นกรณีที่ผู้ขายสินค้าได้ยื่น
แบบแสดงรายการภาษีไว้ไม่ถูกต้องหรือมีข้อผิดพลาดอันเป็นเหตุให้จำนวนภาษีขายในเดือนภาษีที่แสดงไว้
คลาดเคลื่อนไปและเป็นเหตุให้จำนวนภาษีที่ต้องเสียในเดือนภาษีคลาดเคลื่อนไป จึงเป็นหน้าที่และเป็น
ภาระของผู้ขายสินค้าที่ต้องชำระเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ทั้งนี้ ตามมาตรา 89 (3) (4) และมาตรา
89/1 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 62/28209

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020