เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/09003
วันที่: 30 สิงหาคม 2542
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีชำระค่าสินค้าหรือค่าบริการด้วยเงินกู้ของธนาคารโลก
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(8), มาตรา 66, มาตรา 69 ทวิ, มาตรา 80, มาตรา 80/1(4), มาตรา 83/6,
มาตรา 85/3
ข้อหารือ: สถาบัน A. เป็นหน่วยราชการในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับเงินตามโครงการเงินกู้
จากธนาคารโลก เพื่อใช้ในโครงการพัฒนาการผลิตกำลังคนสาขาช่างอุตสาหกรรมในวงเงิน
US$ 31,600,000 สถาบันฯ ตกลงซื้อสินค้าพร้อมติดตั้งจากบริษัทคู่สัญญาซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมาย
ไทยกรณีหนึ่งและบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน (ไม่มีสาขาในประเทศไทย)
อีกกรณีหนึ่ง เมื่อบริษัทคู่สัญญาส่งสินค้าแล้ว สถาบันฯ จะทำเรื่องขอเบิกเงินกับธนาคารโลกและ
ธนาคารโลกจะจ่ายเงินเข้าบัญชีของบริษัทคู่สัญญาโดยตรงเป็นค่าสินค้าเป็นเงินสกุลดอลล่าร์สหรัฐอเมริกา
ส่วนค่าติดตั้งสถาบันฯ จ่ายจากเงินงบประมาณสมทบ
ในการตกลงซื้อขายสินค้าพร้อมติดตั้งจากบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายประเทศ
สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน บริษัทคู่สัญญาดังกล่าวจะส่งเจ้าหน้าที่เข้ามา
ลงนามเซ็นสัญญาซื้อขายกับสถาบันฯ และอยู่ในประเทศไทยประมาณ 15 วัน จึงเดินทางกลับ และสถาบันฯ
เป็นผู้นำเข้าสินค้าด้วยตนเอง
จึงขอทราบแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 69 ทวิ แห่ง
ประมวลรัษฎากร และการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อมีการชำระค่าสินค้าให้บริษัทคู่สัญญาทั้งที่ตั้งขึ้นตาม
กฎหมายไทยหรือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ นั้น
แนววินิจฉัย: กรณีที่สถาบันฯ จ่ายเงินค่าซื้อสินค้าพร้อมติดตั้งให้กับบริษัทคู่สัญญาถือเป็นเงินได้ ตามมาตรา
40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร สถาบันฯ ซึ่งเป็นส่วนราชการในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อจ่ายเงิน
ค่าสินค้าพร้อมติดตั้งให้ปฏิบัติดังนี้
1. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
(1) กรณีบริษัทคู่สัญญาเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย บริษัทคู่สัญญามีหน้าที่ต้องเสีย
ภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 66 แห่งประมวลรัษฎากร สถาบันฯ จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ
ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 1 ตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
กรณีที่ธนาคารโลกโอนเงินให้แก่บริษัทคู่สัญญาในประเทศไทยโดยตรงเป็นค่าสินค้าเป็น
เงินดอลล่าร์สหรัฐอเมริกา ให้บริษัทคู่สัญญาคำนวณจำนวนเงินภาษีที่สถาบันฯ ต้องหักและนำส่งเป็นหน่วย
เงินตราไทย โดยให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามอัตราอ้างอิง (อัตราขายถัวเฉลี่ย) ประจำวันที่
ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศไว้ เป็นอัตราแลกเปลี่ยนในการคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็น
เงินตราไทยของวันถัดไป ตามมาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 1 แห่ง
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.71/2541 ฯ ลงวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2541 แล้วให้บริษัทคู่สัญญานำ
เงินตราไทยในอัตราร้อยละ 1 ที่คำนวณได้มอบให้สถาบันฯเป็นค่าภาษีหัก ณ ที่จ่าย เพื่อสถาบันฯ นำส่ง
ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ภายใน 7 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้ต่อไป
กรณีที่สถาบันฯ นำเงินงบประมาณสมทบจ่ายในส่วนค่าติดตั้งให้บริษัทคู่สัญญา สถาบันฯ มี
หน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1 ของเงินที่จ่ายตามมาตรา 69 ทวิ แห่ง
ประมวลรัษฎากร เพื่อนำส่ง ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ภายใน 7 วันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่าย
เงินได้
(2) กรณีบริษัทคู่สัญญาเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายและมีถิ่นที่อยู่ในประเทศ
สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน (ไม่มีสาขาในประเทศไทย) หากบริษัทคู่สัญญาได้ขายสินค้าพร้อมติดตั้งโดยไม่
ผ่านทางสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย บริษัทคู่สัญญาดังกล่าวไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลใน
ประเทศไทย ตามข้อ 5 และข้อ 7 วรรคหนึ่ง แห่งอนุสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับ
สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน และมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่
18) พ.ศ. 2505 สถาบันฯ ผู้จ่ายเงินได้จะไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แต่อย่างใด
2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
(1) กรณีบริษัทคู่สัญญาเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และเป็นผู้ประกอบการ
จดทะเบียน การชำระค่าสินค้าด้วยเงินกู้จากธนาคารโลกเข้าลักษณะเป็นการชำระค่าสินค้าหรือค่าบริการ
ตามข้อ 1 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 28)ฯ ลงวันที่ 5 มีนาคม
พ.ศ. 2535 และหากสถาบันฯ ได้ออกหนังสือรับรองที่มีรายการครบถ้วนตามข้อ 2 ของ
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว บริษัทคู่สัญญาซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนจะได้รับสิทธิใช้
อัตราภาษีร้อยละ 0 ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 80/1 (4) แห่งประมวลรัษฎากร
ส่วนการชำระค่าติดตั้งด้วยเงินงบประมาณสมทบ บริษัทคู่สัญญาต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มใน
อัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ
(ฉบับที่ 236) พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 353) พ.ศ. 2542
(2) กรณีบริษัทคู่สัญญาเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายและมีถิ่นที่อยู่ในประเทศ
สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน (ไม่มีสาขาในประเทศไทย) หากบริษัทคู่สัญญาดังกล่าวมิใช่ผู้ประกอบการ
จดทะเบียน บริษัทคู่สัญญาดังกล่าวไม่ได้รับสิทธิใช้อัตราภาษีร้อยละ 0 ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตาม
มาตรา 80/1 (4) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับ
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 28)ฯ ลงวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2535 กรณีนี้ถือว่าบริษัทคู่สัญญาเป็น
ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรได้เข้ามาประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักร
เป็นการชั่วคราว และมิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการชั่วคราว ตามมาตรา 85/3 แห่ง
ประมวลรัษฎากร สถาบันฯ มีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มที่บริษัทคู่สัญญามีหน้าที่เสีย ตามมาตรา 83/6 แห่ง
ประมวลรัษฎากร โดยให้คำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย ตามมาตรา 9 แห่ง
ประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
เป็นเงินตราไทย ตามมาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 และให้นำส่ง
ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ภายใน 7 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้ต่อไป
ส่วนการชำระค่าติดตั้งด้วยเงินงบประมาณสมทบ สถาบันฯ ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่นำส่งภาษี
มูลค่าเพิ่มที่บริษัทคู่สัญญามีหน้าที่เสีย ตามมาตรา 83/6 แห่งประมวลรัษฎากรด้วย
เลขตู้: 62/28249

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020