เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/09287
วันที่: 7 กันยายน 2542
เรื่อง: ภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณี A และ B เข้ามาให้บริการฝึกอบรม
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/2, มาตรา 83/6, มาตรา 76 ทวิ, มาตรา 41
ข้อหารือ: บริษัท A และ B เข้ามาให้บริการฝึกอบรมกับกรมอาชีวศึกษา โดยมีข้อเท็จจริงสรุปได้ดังนี้
1. A และ B เป็นสถาบันการศึกษา ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายประเทศออสเตรเลียและ
ประเทศแคนาดา ตามลำดับ ไม่มีสถานประกอบการในประเทศไทย
2. สถาบันทั้งสองได้เข้ามาทำสัญญาให้บริการฝึกอบรมในประเทศไทย
3. สถาบันทั้งสองแห่งได้หารือ ดังต่อไปนี้
(ก) ภาษีมูลค่าเพิ่ม การให้บริการฝึกอบรมในประเทศไทยดังกล่าวจะต้องเสียภาษี
มูลค่าเพิ่มหรือไม่อย่างไร
(ข) ภาษีเงินได้นิติบุคคล สถาบันทั้งสองแห่งต้องมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก
ค่าจ้างฝึกอบรมจากกรมอาชีวศึกษา หรือไม่ อย่างไร
(ค) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เจ้าหน้าที่ของสถาบันที่เข้ามาฝึกอบรมในประเทศไทย
จะต้องมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย จากค่าจ้างที่ได้รับจากสถาบันทั้งสอง หรือไม่
อย่างไร และหากต้องเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทย เจ้าหน้าที่ดังกล่าวจะสามารถนำภาษีใน
ประเทศไทยไปเครดิตภาษีที่ต้องเสียในประเทศที่เจ้าหน้าที่ดังกล่าวมีถิ่นที่อยู่ได้หรือไม่ อย่างไร และ
เจ้าหน้าที่ต้องมีหน้าที่รับใบผ่านภาษีอากรจากกรมสรรพากรหรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย: (1) ภาษีมูลค่าเพิ่ม
กรณีที่สถาบันทั้งสอง เข้ามารับจ้างทำการฝึกอบรมตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เข้า
ลักษณะเป็นการให้บริการโดยผู้ประกอบการในราชอาณาจักร ซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตาม
มาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น หากสถาบันทั้งสองไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตาม
มาตรา 85/3 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อกรมอาชีวศึกษาชำระค่าบริการให้สถาบันทั้งสอง
กรมอาชีวศึกษามีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 83/6 แห่งประมวลรัษฎากร
(2) ภาษีเงินได้นิติบุคคล
กรณีที่สถาบันทั้งสอง เข้ามารับจ้างฝึกอบรม เข้าลักษณะเป็นกิจการซึ่งดำเนินการเป็น
ทางค้าหรือหากำไร โดยนิติบุคคลอื่นที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ซึ่งเข้าลักษณะเป็นบริษัทหรือ
ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น สถาบันทั้งสอง จึงมีหน้าที่เสีย
ภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทยจากค่าจ้างที่ได้รับ โดยเจ้าหน้าที่ของสถาบันทั้งสองที่เข้ามาทำ
การสอนในประเทศไทยมีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษีแทนสถาบันทั้งสองตาม
มาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร และเจ้าหน้าที่ดังกล่าวมีหน้าที่ต้องขอรับใบผ่านภาษีอากรจาก
กรมสรรพากรตามมาตรา 4 ทวิ และมาตรา 4 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
อย่างไรก็ดี หากสถาบันทั้งสองเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ทางภาษีอากรในประเทศออสเตรเลียและ
ประเทศแคนาดาสถาบันทั้งสองอาจได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย ตามข้อบทของ
อนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศออสเตรเลีย หรืออนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศ
แคนาดา เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนแล้วแต่กรณี
(3) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
กรณีที่เจ้าหน้าที่ของสถาบันทั้งสอง เข้ามาทำการสอนในประเทศไทยโดยได้รับค่าจ้าง
จากสถาบันทั้งสอง ถือได้ว่าเงินได้ดังกล่าวเกิดจากหน้าที่งานที่ทำในประเทศไทย เจ้าหน้าที่ดังกล่าวมี
หน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย ตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร
อย่างไรก็ดี หากเจ้าหน้าที่ดังกล่าวมีถิ่นที่อยู่ทางภาษีอากรในประเทศซึ่งมีอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บ
ภาษีซ้อนกับประเทศไทย เจ้าหน้าที่ดังกล่าวอาจได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามข้อบทของ
อนุสัญญาดังกล่าว หรือหากยังคงต้องเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทย อาจนำภาษีเงินได้ที่เสียใน
ประเทศไทยไปเครดิตกับภาษีเงินได้ที่ต้องเสียในประเทศที่เจ้าหน้าที่มีถิ่นที่อยู่ได้ ตามข้อบทของอนุสัญญา
ดังกล่าว
เลขตู้: 62/28291

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020