เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/09558
วันที่: 14 กันยายน 2542
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล การรับรู้รายได้รายจ่ายตามเกณฑ์เงินสด
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65
ข้อหารือ: บริษัทฯ ได้เข้าประมูลซื้อบัญชีลูกหนี้เช่าซื้อจากสถาบันการเงิน 56 แห่งที่ถูกสั่งพักกิจการ
โดยผ่านองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน ("ปรส.") และได้ทำการแปลงหนี้ใหม่ โดยบริษัทฯ
เข้าเป็นผู้ให้เช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อ และมีสิทธิรับเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระหรือจะถึงกำหนดชำระตาม
สัญญาจากลูกหนี้ผู้เช่าซื้อต่อไป เนื่องจากบัญชีลูกหนี้ของสถาบันการเงิน 56 แห่ง เป็นลูกหนี้ด้อยคุณภาพ
และจะก่อให้เกิดหนี้สูญเป็นจำนวนมาก ปรส. จึงได้ขออนุมัติจากกรมสรรพากรให้ผู้ประมูลซื้อบัญชีลูกหนี้
สามารถเลือกคำนวณกำไรสุทธิตามเกณฑ์เงินสด ซึ่งจะไม่มีภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลในหนี้ค่างวดที่ถึง
กำหนดชำระแต่ยังไม่ได้รับจริง ทั้งนี้ เพื่อให้ ปรส.สามารถดำเนินการขายบัญชีลูกหนี้ได้ในราคาที่สูงขึ้น
และเพื่อจูงใจให้มีผู้เข้าร่วมประมูลมากขึ้น
บริษัทฯ ได้เลือกใช้เกณฑ์เงินสดในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับ
รอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ.2541 ตามหลักการที่กรมสรรพากรได้ให้ไว้กับ ปรส. และขอหารือดังต่อไปนี้
1. บริษัทฯ รับรู้รายได้ค่างวดจากสัญญาเช่าซื้อเมื่อได้รับชำระจริงตามเกณฑ์เงินสด บริษัทฯ
มีต้นทุนการซื้อบัญชีลูกหนี้ที่ได้จ่ายไปในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกันเป็นจำนวนมาก และไม่ประสงค์จะ
รับรู้ต้นทุนดังกล่าวเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น เนื่องจากจะมีผลให้เกิด
ผลขาดทุนสูงมาก และจะยกยอดไปใช้ได้เพียง 5 รอบระยะเวลาบัญชี บริษัทฯ จึงใช้วิธีการคำนวณ
กำไรสุทธิโดยใช้อัตราผลตอบแทน("IRR") ที่บริษัทฯประมาณการขณะเข้าประมูลซื้อบัญชีลูกหนี้จาก ปรส
. คูณเข้ากับจำนวนเงินค่างวดที่ได้รับชำระจริงในรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ.2541 และในปีถัดมา
บริษัทฯ จะปรับปรุงอัตราผลตอบแทนดังกล่าวทุก ๆ 3 เดือน โดยคำนึงถึงปริมาณเงินสดที่ได้รับชำระจาก
ลูกหนี้ตั้งแต่แรก และปัจจัยเชิงสถิติอีกจำนวนหนึ่ง วิธีการนี้จะมีผลให้บริษัทฯ ไม่ต้องรับรู้รายจ่ายต้นทุน
การซื้อบัญชีลูกหนี้ที่จ่ายไปแล้วทั้งจำนวน ซึ่งทำให้บริษัทฯ มีกำไรสุทธิทันทีตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีแรก
และมีภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวนทั้งสิ้น 146 ล้านบาท บริษัทฯ หารือว่าการคำนวณกำไรสุทธิของ
บริษัทฯ โดยวิธีการดังกล่าวถือได้ว่าสอดคล้องกับเกณฑ์เงินสดแล้ว หรือไม่
2. เนื่องจากเงินค่าเช่าซื้อแต่ละงวดตามสัญญาเช่าซื้อนั้น ประกอบด้วยเงินต้นและดอกเบี้ย
เช่น สัญญาเช่าซื้อกำหนดให้ลูกค้าชำระเงินงวดละ 125 บาท ซึ่งประกอบไปด้วยเงินต้น 100 ดอกเบี้ย
25 บริษัทฯ ซื้อบัญชีลูกหนี้โดยผ่าน ปรส. ในราคา 40 เมื่อบริษัทฯ เลือกใช้เกณฑ์เงินสดในการคำนวณ
กำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทฯ จะต้องปรับใช้เกณฑ์ดังกล่าวทั้งในส่วนของเงินต้นและ
ดอกเบี้ย ซึ่งได้แก่เงินค่างวด 125 ตามสัญญาเช่าซื้อทั้งจำนวน ใช่หรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. กรณีที่บริษัทฯ ซื้อบัญชีลูกหนี้เช่าซื้อจากสถาบันการเงิน 56 แห่งที่ถูกสั่งพักกิจการ โดย
ผ่านองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน ("ปรส.") กรมสรรพากร ได้บรรเทาภาระภาษีโดยให้
เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเมื่อรับชำระราคาค่างวด แต่สำหรับการคำนวณรายจ่าย ให้ใช้หลักการจับคู่
ค่าใช้จ่ายกับรายได้ (MATCHING CONCEPT) กล่าวคือ เมื่อรับรู้รายได้ในงวดใดก็ต้องจัดสรรหรือเฉลี่ย
รายจ่ายให้สัมพันธ์กับรายได้ในงวดนั้นตามวิธีการทางบัญชีที่รับรองทั่วไป
2. เมื่อบริษัทฯ เลือกใช้เกณฑ์เงินสดในการคำนวณกำไรสุทธิแล้ว บริษัทฯ จะต้องปรับใช้
เกณฑ์ดังกล่าวกับเงินค่างวดตามสัญญาเช่าซื้อทั้งจำนวน จะใช้เกณฑ์เงินสดในการรับรู้เงินต้น 100 และ
ใช้เกณฑ์สิทธิในการรับรู้ดอกเบี้ย 25 ไม่ได้
เลขตู้: 62/28303

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020