เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/09662
วันที่: 14 กันยายน 2542
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย สำหรับเงินเดือนและเงินชดเชยที่
พนักงานได้รับเพราะเหตุออกจากงานระหว่างปีภาษี
ข้อกฎหมาย: มาตรา 48(5), มาตรา 50(1), คำสั่งกรมสรรพากรฯ ที่ ป.16/2530
ข้อหารือ: นาย ส และพนักงานของบริษัท ก จำกัด (มหาชน) ประมาณเกือบ 1,000 คน ได้ถูก
บริษัทฯ เลิกจ้างตามนโยบายการปรับโครงสร้างธุรกิจและโครงการช่วยเหลือในการออกจากงาน โดย
พนักงานจะได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานและเงินชดเชยอื่น ๆ ซึ่งบริษัทฯ ได้จ่ายให้แก่พนักงาน
ในวันที่ 30 มิถุนายน 2542 และวันที่ 31 กรกฎาคม 2542 ในส่วนของนาย ส ได้ถูกบริษัทฯ เลิกจ้าง
เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2542 จึงได้หารือเกี่ยวกับการคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย ดังนี้
1. วิธีการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร กรณี
ผู้มีเงินได้เริ่มงานตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน และกรณีผู้มีเงินได้เริ่มงานระหว่างปี
2. วิธีการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย สำหรับเงินได้ของพนักงานที่มีระยะเวลาทำงานไม่ถึง
5 ปี ที่นายจ้างจ่ายให้เนื่องจากการให้ออกจากงาน
แนววินิจฉัย: 1. กรณีตาม 1 การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย แยกพิจารณาได้ ดังนี้
1.1 กรณีพนักงานเริ่มทำงานตั้งแต่เดือนมกราคม และสิ้นสุดในเดือนมิถุนายนในปีภาษี
เดียวกัน กรณีไม่ถือว่าเข้าทำงานระหว่างปี ในการคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จะต้องคูณ
เงินได้พึงประเมินที่จ่ายด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่าย คือคูณด้วย 12 แล้วคำนวณภาษีตามเกณฑ์ในมาตรา
48 เป็นเงินภาษีทั้งสิ้นเท่าใดให้หารด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่าย ได้ผลลัพธ์เป็นเงินเท่าใดให้หักไว้
เท่านั้น ตามนัยมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร
1.2 กรณีพนักงานเริ่มทำงานระหว่างปี ไม่ว่าการทำงานจะสิ้นสุดเมื่อใดก็ตาม ถือว่า
เข้าทำงานระหว่างปี ในการคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ต้องคูณเงินได้พึงประเมินที่จ่ายด้วยจำนวน
คราวที่จะต้องจ่ายจริงตั้งแต่เริ่มเข้าทำงานจนถึงเดือนสุดท้ายของปีภาษีนั้น แล้วคำนวณภาษีตามมาตรา
48 แห่งประมวลรัษฎากร เป็นเงินภาษีทั้งสิ้นเท่าใดให้หารด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่ายจริงนั้น ได้ผลลัพธ์
เท่าใดให้หักภาษีไว้เท่านั้น ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.16/2530 เรื่อง การคำนวณ
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย กรณีการจ้างแรงงานระหว่างปีลงวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2530
2. กรณีตาม 2 กรณีประโยชน์ต่าง ๆ ที่นายจ้างจ่ายให้เนื่องจากการให้ออกจากงานของ
พนักงานที่มีระยะเวลาทำงานไม่ถึง 5 ปี เข้าลักษณะเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ถือเป็น
เงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ในกรณีที่เงินได้ดังกล่าวได้รับเนื่องจากการ
ออกจากงานที่มีระยะเวลาการทำงานน้อยกว่า 5 ปี จึงไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้
ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(ก) ของ
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และ
เงื่อนไขของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งนายจ้างจ่ายให้
ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ตามมาตรา 48(5) และมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร
ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535
ดังนั้น ในการคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จากเงินผลประโยชน์อื่น ๆ ซึ่งมีลักษณะ
เป็นเงินได้เพิ่มเติมจากเงินได้ประจำ จึงต้องคำนวณตามนัยมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากรโดยให้
นำเงินผลประโยชน์ดังกล่าวคูณด้วย 1 ไปรวมคำนวณกับเงินเดือนเสมือนว่าจ่ายทั้งปี แล้วคำนวณภาษีตาม
เกณฑ์ในมาตรา 48 เป็นเงินภาษีทั้งสิ้นเท่าใด ให้หักภาษีเงินได้สำหรับเงินเดือนตามที่คำนวณไว้แล้วใน
1.1 หรือ 1.2 แล้วแต่กรณี ได้ผลลัพธ์เป็นเงินภาษีสำหรับเงินผลประโยชน์เท่าใด ให้หักไว้เท่านั้น
เลขตู้: 62/28315

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020