เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/10032
วันที่: 23 กันยายน 2542
เรื่อง: ภาษีเงินได้และภาษีการค้า กรณีการออกหมายเรียกและแจ้งการประเมินภาษีบุคคลภายหลังที่ศาลมี
คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและมีคำสั่งเป็นบุคคลล้มละลายแล้ว
ข้อกฎหมาย: มาตรา 45 วรรค 2, มาตรา 77(1), มาตรา 8
ข้อหารือ: สรรพากรภาค ได้ออกหมายเรียกไปยังนาย ก ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ มีนาง ข
เป็นผู้รับเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2539 สำหรับตรวจสอบภาษีในปี พ.ศ. 2534 เนื่องจากในปี พ.ศ.2533
นาย ก ได้ซื้อและแบ่งแยกโฉนดที่ดินรวมทั้งปลูกสร้างอาคาร ต่อมาในปี พ.ศ. 2534 ได้ขายที่ดินพร้อม
อาคารดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการมุ่งค้าและหากำไร อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีการค้าตามประเภท
การค้า 11 แต่นาย ก มิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปี พ.ศ. 2534 และ
มิได้จดทะเบียนและเสียภาษีการค้าสรรพากรพื้นที่จึงได้ประเมินภาษีเงินได้ฯ และภาษีการค้า ตามหนังสือ
แจ้งการประเมิน ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2540 และแจ้งการประเมินภาษีดังกล่าวทางไปรษณีย์
ลงทะเบียนตอบรับ แต่หนังสือแจ้งการประเมินถูกส่งคืนเนื่องจากไปรษณีย์แจ้งว่า "ย้ายไม่ทราบที่อยู่"
ต่อมาได้ตรวจสอบพบว่านาย ก ถูกศาลแพ่งธนบุรีพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม
2534 และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2536 และศาลมีคำสั่งปิดคดีแล้ว
ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2538 สรรพากรพื้นที่จึงขออนุมัติยกเลิกการประเมินภาษีดังกล่าว
สรรพากรภาค มีความเห็นว่า การออกหมายเรียกนาย ก เพื่อไปให้ถ้อยคำต่อ
เจ้าพนักงานประเมินในตรวจสอบการเสียภาษี ถือเป็นการจัดการทรัพย์สินอย่างหนึ่งตามคำพิพากษาฎีกาที่
4955/2536 ดังนั้น เมื่อนาย ก เป็นบุคคลล้มละลายแล้วตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2536
เจ้าพนักงานประเมินจึงต้องจัดส่งหมายเรียกไปให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ (จพท.) ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจ
จัดการทรัพย์สินตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ดังนั้น การส่งหมายเรียกจึง
ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้การประเมินภาษีดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย
แนววินิจฉัย: 1. ความเห็นของสรรพากรภาค เกี่ยวกับคำพิพากษาฎีกาที่ 4955/2536 ยังไม่ถูกต้อง
เนื่องจากในคดีดังกล่าวกรมสรรพากร (จำเลย) ได้แก้อุทธรณ์ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้ในระหว่างการ
ประนอมหนี้ก่อนล้มละลายตามมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายฯ หรือไม่ เพราะศาลได้มีคำสั่ง
พิทักษ์เด็ดขาดโจทก์ไปแล้วอำนาจฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีเกี่ยวกับทรัพย์สินจึงเป็นของ จพท. แม้ว่าที่ประชุม
เจ้าหนี้ได้ยอมรับและศาลเห็นชอบด้วยแล้วก็ตาม
ซึ่งศาลได้วินิจฉัยในประเด็นนี้ว่า การประนอมหนี้ก่อนล้มละลายตามมาตรา 45 ที่ศาล
เห็นชอบด้วย เมื่อไม่ปรากฏว่าลูกหนี้ได้ตั้งบุคคลอื่นหรือ จพท.เป็นผู้จัดการทรัพย์สินหรือกิจการแทนลูกหนี้
ตามมาตรา 58 ต้องถือว่าคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์นั้นเป็นอันยกเลิกไปในตัว และลูกหนี้กลับเป็นผู้มีอำนาจจัดการ
ทรัพย์สินหรือกิจการของตนขึ้นตามเดิม (ไม่ถูกจำกัดอำนาจตามมาตรา 58) จพท.ย่อมหมดอำนาจหน้าที่
ต่างๆ เพียงแต่มีอำนาจบางประการที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามเงื่อนไขการประนอมหนี้ตามมาตรา 57
หรือการขอให้ยกเลิกการประนอมหนี้ตามมาตรา 60 รวมทั้งการดำเนินคดีแพ่งแทนลูกหนี้ตามมาตรา 25
ที่ยังคั่งค้างอยู่ต่อไปเท่าที่จำเป็นเท่านั้นเมื่อการให้ถ้อยคำต่อเจ้าหนักงานประเมินตามที่ถูกเรียกตรวจสอบ
ไต่สวนการเสียภาษี การอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และการฟ้องขอให้เพิกถอน
การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ดังเช่นคดีนี้เป็นการจัดการทรัพย์สิน
อย่างหนึ่ง จึงอยู่ในอำนาจของโจทก์ที่จะจัดการได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
ดังนั้น การวินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจจัดการทรัพย์สินดังกล่าว จึงเป็นกรณีตามมาตรา 45
วรรคสอง มิใช่ตามมาตรา 22(1) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายฯ ทั้งการออกหมายเรียกและการ
ประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมินไม่ใช่การจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้แต่อย่างใด
2. เนื่องจากการประเมินภาษีไม่ใช่การฟ้องร้องต่อศาลตามมาตรา 22(3) แห่ง
พระราชบัญญัติล้มละลายฯแม้จะมีผลเป็นอย่างเดียวกับการฟ้องร้อง ซึ่งมีผลเพียงเพื่อการตั้งสิทธิเรียกร้อง
เท่านั้น แต่ไม่ใช่การฟ้องคดี ทั้งนี้ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4178/2532 ซึ่งได้วินิจฉัยในประเด็น
ดังกล่าวว่า "การฟ้องคดีมรดกย่อมมีความหมายถึงการกล่าวหรือเสนอข้อหาต่อศาล เพื่อบังคับเอาแก่
กองมรดกเท่านั้น หาได้มีความหมายเลยไปถึงการประเมินหรือแจ้งจำนวนภาษีอากรให้โจทก์ชำระของ
เจ้าพนักงานประเมินด้วยไม่... การประเมินภาษีไม่ใช่การฟ้องร้องต่อศาลแม้การที่เจ้าพนักงานประเมิน
ได้แจ้งคำสั่งประเมินให้ผู้จัดการมรดกทราบ... อันถือได้ว่าทำการอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับ
การฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ใช้หนี้ตามที่เรียกร้องแล้ว อายุความย่อมสะดุดหยุดลง
นับแต่วันที่ได้ประเมิน และแจ้งจำนวนภาษีอากรที่ประเมินไปยังผู้ต้องเสียภาษีดังศาลภาษีอากรกลาง
วินิจฉัยก็ตาม แต่การมีผลเป็นอย่างเดียวกับการฟ้องร้อง มีความหมายเพียงเพื่อผลในการตั้ง
สิทธิเรียกร้องเท่านั้น หาใช่การฟ้องคดีตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754
วรรคสาม ไม่ เพราะถ้าการทำการอื่นใดอันนับว่ามีผลเป็นอย่างเดียวกับการฟ้องเป็นการฟ้องคดีแล้ว
การทำการอื่นใดนั้นก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องมาทำการฟ้องคดีเมื่อมีข้อโต้แย้งต่อมาอีก..."
ดังนั้น การส่งหมายเรียกไปยังนาย ก ภายหลังถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและเป็นบุคคล
ล้มละลายแล้วของเจ้าพนักงานประเมินจึงชอบด้วยมาตรา 8 แห่งประมวลรัษฎากร ไม่จำต้องส่ง
หมายเรียกไปยัง จพท. แต่อย่างใด
3. กรณีเจ้าพนักงานประเมินจะได้ออกหมายเรียกภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์
เด็ดขาดและศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายแล้ว และไม่ได้ขอรับชำระหนี้ภายในกำหนด 2 เดือน
นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามมาตรา 27 และมาตรา 91 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายฯ
เจ้าพนักงานประเมินก็มีหน้าที่ต้องทำการประเมินภาษีอากรในนามของนาย ก และส่งหนังสือ
แจ้งการประเมินไปยังนาย ก ตามมาตรา 8 แห่งประมวลรัษฎากร และแจ้งให้ จพท.ผู้มีอำนาจจัดการ
ทรัพย์สินตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายฯ ทราบด้วย ทั้งนี้ ตามการประชุม กพอ. ครั้งที่
4/2533 ลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2533 (ระเบียบวาระที่ 1) ทั้งนี้ เนื่องจากแม้ในกรณีที่ลูกหนี้
ขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายตามมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายฯ และที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ยอมรับ
และศาลเห็นชอบด้วยแล้ว ย่อมผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหมดที่ได้ขอรับชำระหนี้และไม่ได้ขอรับชำระหนี้ แต่ไม่ผูกมัด
เจ้าหนี้ภาษีอากรตามมาตรา 77(1) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายฯ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่
1001/2509 และในกรณีที่ศาลมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายตามมาตรา 135(1) หรือ (2) ไม่ทำให้
ลูกหนี้หลุดพ้นหนี้สินแต่อย่างใด เพราะคำว่า "หนี้สิน" ไม่ได้หมายความเฉพาะหนี้ที่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้
ไว้ในคดีล้มละลายแล้วเท่านั้น ดังนั้น แม้เจ้าหนี้จะมิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้ตามมาตรา 27 และมาตรา
91 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายฯ เจ้าหนี้ก็ยังมีสิทธิที่จะฟ้องลูกหนี้เกี่ยวกับหนี้สินนั้นเป็นคดีล้มละลายคดี
ใหม่ หรือคดีแพ่งธรรมดาอีกได้ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1703 - 1704 - 2506
เลขตู้: 62/28353

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020