เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/12237
วันที่: 2 ธันวาคม 2542
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีจ่ายเงินทดรองจ่ายค่าโฆษณา
ข้อกฎหมาย: มาตรา82/5(3), มาตรา77/2, ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 17) พ.ศ.2534
ข้อหารือ: บริษัทฯ ประกอบกิจการขายสินค้า อะไหล่ อุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์วอลโว่ และเป็นตัวแทน
ขายรถยนต์วอลโว่ที่ผลิตภายในประเทศไทยบริษัทฯ ได้จ่ายเงินทดรองจ่ายค่าโฆษณารถยนต์วอลโว่ รุ่น
S40/V40 ให้แก่บริษัท ก จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทรับจ้างทำโฆษณา แทนบริษัท ข จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทน
จำหน่ายรถยนต์วอลโว่รุ่น S40/V40 ที่นำเข้าจากประเทศสวีเดน ซึ่งในการเรียกเก็บเงิน บริษัท ก
จำกัด ได้ออกใบกำกับภาษีให้ในนามบริษัทฯ และบริษัทฯ ได้เรียกเก็บเงินจากบริษัท ข จำกัด พร้อมกับ
ได้บันทึกในรายงานภาษีขายและได้นำส่งภาษีแล้ว จึงหารือว่า
1. บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีซื้อสำหรับค่าโฆษณารถยนต์วอลโว่รุ่น S40/V40 มาถือเป็นภาษีซื้อ
ของบริษัทฯได้หรือไม่
2. บริษัทฯ มีสิทธิออกใบกำกับภาษี เมื่อเรียกเก็บเงินที่ได้ทดรองจ่ายค่าโฆษณาแทนบริษัท
ข จำกัด ได้หรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีที่ออกในนามบริษัทฯ เป็นภาษีซื้อสำหรับค่าโฆษณารถยนต์วอลโว่
รุ่น S40/V40 ซึ่งบริษัท ข จำกัด เป็นผู้นำเข้าและเป็นตัวแทนจำหน่าย จึงเป็นภาษีซื้อที่ไม่เกี่ยวข้อง
โดยตรงกับการประกอบกิจการของบริษัทฯ บริษัทฯ ไม่มีสิทธินำภาษีซื้อไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
ตามมาตรา 82/5(3) แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 4 แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับ
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 17) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักใน
การคำนวณภาษี ตามมาตรา 82/5(1)(2)(3)(4) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.
2534
2. การที่บริษัทฯ เรียกเก็บเงินทดรองจ่ายคืนจากบริษัท ข จำกัด มิใช่กรณีการขายสินค้า
หรือการให้บริการ โดยผู้ประกอบการ ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น บริษัทฯ จึงไม่มี
สิทธิออกใบกำกับภาษีตามมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 62/28610

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020