เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/12382
วันที่: 9 ธันวาคม 2542
เรื่อง: การยกเว้นรัษฎากร กรณีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงิน
ข้อกฎหมาย: มาตรา5, พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 325) พ.ศ. 2541)
ข้อหารือ: สรรพากรจังหวัด ได้หารือกรณีนาย ก ได้ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับธนาคาร ก
โดยมีหนี้เป็นจำนวนเงิน 22,308,906.71 บาท มีหลักประกันเป็นที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง จาก
การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าว ธนาคารฯ ยินยอมให้นาย ก ขายทรัพย์สินที่จำนองเป็นประกันให้แก่
นาง ข (บุคคลภายนอก) เพื่อนำเงินไปชำระหนี้ทั้งหมดให้แก่ธนาคารฯ ซึ่งนาย ก ได้ยื่นคำร้องขอ
จดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่นาง ข โดยนำเอกสารรับรองการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ไปแสดงต่อ
เจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอยกเว้นการเสียภาษีอากรแต่เจ้าพนักงานที่ดิน แจ้งว่า ไม่สามารถยกเว้น
ภาษีอากรให้ได้เนื่องจากไม่มีอำนาจกระทำการดังกล่าว นาย ก จึงขอให้สรรพากรจังหวัด ยืนยันการ
ยกเว้นภาษีอากรสำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สินระหว่างตนเองกับนาง ข ซึ่งสรรพากรจังหวัด
พิจารณาแล้วเห็นว่า เงินได้ดังกล่าว เข้าตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่
ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด จึงได้รับยกเว้นภาษีอากรตามมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตาม
ความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 325) พ.ศ. 2541 จึงหารือว่า
ความเห็นของสรรพากรจังหวัดถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย: ความเห็นของสรรพากรจังหวัดยังคลาดเคลื่อนอยู่ เนื่องจากหลักเกณฑ์การปรับปรุง
โครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ให้ได้รับยกเว้นรัษฎากร ตามมาตรา
5 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 325)
พ.ศ. 2541 นั้น จะต้องเป็นการโอนทรัพย์สินระหว่างลูกหนี้และสถาบันการเงินเท่านั้น ซึ่งการ
โอนทรัพย์สินระหว่างนาย ก และนาง ข เป็นการโอนทรัพย์สินระหว่างลูกหนี้กับบุคคลภายนอก จึงไม่เข้า
หลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ฯ ดังกล่าวข้างต้น เพราะฉะนั้น เงินได้จากการขายทรัพย์สินของ
นาย ก ไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีอากรแต่อย่างใด
เลขตู้: 62/28648

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020