เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/12882
วันที่: 22 ธันวาคม 2542
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย กรณีโอนอสังหาริมทรัพย์
ข้อกฎหมาย: มาตรา48(4)(ก), (ข), มาตรา50(ก), (ข), พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 352) พ.ศ. 2542
ข้อหารือ: นาย ก ได้ไปขอจดทะเบียนโอนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ณ สำนักงานที่ดิน เจ้าหน้าที่ได้
เรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย เป็นเงิน 48,245 บาท นาย ก เห็นว่า เป็นการ
ไม่ถูกต้องเนื่องจากได้มีพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 352) พ.ศ. 2542 ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับ
เงินได้สุทธิจากการคำนวณภาษีเงินได้ เฉพาะเงินได้ส่วนที่ไม่เกิน 50,000 บาท สำหรับปีภาษีนั้น แต่
นาย ก ก็ได้ชำระภาษีจำนวนดังกล่าวแก่เจ้าหน้าที่เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่นาย
ข ในวันนั้นได้ นาย ก จึงขอทราบว่า ถ้านาย ก ต้องการขอคืนภาษีส่วนที่ได้ชำระเกินไป นาย ก จะ
ต้องดำเนินการอย่างไร ซึ่งกรมที่ดินเห็นว่า เนื่องจากเรื่องนี้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรมสรรพากร
ประกอบกับกรมสรรพากรยังไม่เคยแจ้งแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวให้กรมที่ดินทราบ ดังนั้น
กรมที่ดินจึงขอหารือว่า เมื่อพระราชกฤษฎีกาฯ ดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้วแนวทางปฏิบัติในการเรียกเก็บ
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย จากการขายอสังหาริมทรัพย์ จะต้องเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่
อย่างไร
แนววินิจฉัย: ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 352) พ.ศ. 2542 เป็นกรณียกเว้นภาษีเงินได้สำหรับ
เงินได้สุทธิจากการคำนวณภาษีเงินได้ ตามมาตรา 48(1) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะเงินได้ส่วนที่
ไม่เกิน 50,000 บาทแรก สำหรับปีภาษีนั้น ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2542 เป็นต้นไป แต่
ตามข้อเท็จจริงของนาย ก เป็นกรณีหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จากการจ่ายเงินได้พึงประเมินให้แก่ผู้รับซึ่ง
ขายอสังหาริมทรัพย์ซึ่งต้องคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(5)(ก) หรือ (ข) แห่ง
ประมวลรัษฎากร แล้วแต่กรณี ดังนี้
(ก) สำหรับอสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดกหรืออสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับจาก
การให้โดยเสน่หา ให้คำนวณภาษีตามเกณฑ์ในมาตรา 48(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นเงินภาษี
ทั้งสิ้นเท่าใด ให้หักเป็นเงินภาษีไว้เท่านั้น
(ข) สำหรับอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยทางอื่น นอกจาก (ก) ให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการ
เหมาตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา แล้วคำนวณภาษีตามเกณฑ์ในมาตรา 48(4)(ข) แห่ง
ประมวลรัษฎากร เป็นเงินภาษีทั้งสิ้นเท่าใด ให้หักเป็นเงินภาษีไว้เท่านั้น
ในการคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย กรณีจ่ายเงินได้พึงประเมินให้แก่ผู้รับ ซึ่งขาย
อสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวเป็นการคำนวณภาษีตามมาตรา 48(4)(ก) หรือมาตรา 48(4)(ข) แห่ง
ประมวลรัษฎากร ซึ่งมิใช่การคำนวณภาษีเงินได้ตามมาตรา 48(1) แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่มีสิทธิ
ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้สุทธิเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 50,000 บาทแรกตามพระราชกฤษฎีกาฯ
ดังกล่าว ดังนั้น เมื่อพระราชกฤษฎีกาฯ ดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว จึงไม่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลง
แนวทางปฏิบัติหรือหลักเกณฑ์ที่ใช้อยู่เดิมแต่อย่างใด
อนึ่ง เมื่อถึงกำหนดยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินที่นาย ก ได้รับในระหว่างปีภาษี
พ.ศ. 2542 นั้น และนาย ก เลือกเสียภาษีสำหรับเงินได้ที่ได้รับจาก
การขายอสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดกหรืออสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร
โดยนำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อย่างอื่น ตามมาตรา 48(1) แห่งประมวลรัษฎากร นาย ก ก็จะได้
รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้สุทธิจากการคำนวณภาษีเงินได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 50,000 บาท
แรก ตามพระราชกฤษฎีกาฯ ดังกล่าว
เลขตู้: 62/28741

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020