เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/30028
วันที่: 5 มกราคม 2543
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการออกใบลดหนี้สำหรับการส่งออกสินค้า
ข้อกฎหมาย: มาตรา 79/1 (1), มาตรา 82/10, มาตรา 86/10
ข้อหารือ: สำนักงานสรรพากรจังหวัดตรวจปฏิบัติการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนมกราคม 2541 ราย
บริษัท อ.จำกัดซึ่งประกอบกิจการผลิตและส่งออกวิกผม บริษัทฯขายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อในประเทศญี่ปุ่น โดย
กระทำพิธีการศุลกากรในนามของบริษัทฯ บริษัทฯ ยื่นแบบ ภ.พ.30 เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0
ต่อมาผู้ซื้อในประเทศญี่ปุ่นแจ้งว่าสินค้าไม่ได้มาตรฐานถือเป็นสินค้าเสีย ผู้ซื้อได้จัดทำรายละเอียดสินค้า
เสียพร้อมกับหักเงินค่าสินค้าเสียออกจากเงินค่าสินค้าที่ต้องชำระและโอนเงินชำระค่าสินค้าผ่านธนาคาร
ให้แก่บริษัทฯ แต่ไม่ได้ส่งสินค้าคืนให้แก่บริษัทฯเนื่องจากต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง ผู้ซื้อว่าจ้างบริษัท ค.
จำกัด ในประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้ทำลายสินค้า บริษัท ค. จำกัดได้ออกใบรับรองการทำลายสินค้า และผู้ซื้อ
ได้ส่งใบรับรองดังกล่าวให้แก่บริษัทฯ เป็นหลักฐาน บริษัทฯ ได้จัดทำใบลดหนี้ให้แก่ผู้ซื้อและนำรายการ
สินค้าเสียตามใบลดหนี้มาหักออกจากยอดขายส่งออก โดยยื่นแบบ ภ.พ.30 เดือนมกราคม 2541
เพิ่มเติม แสดงยอดขายแจ้งไว้เกินจำนวน 2,339,666.42 บาท จังหวัดมีความเห็นว่า บริษัทฯไม่
สามารถนำใบลดหนี้ค่าสินค้าเสียมายื่นแบบ ภ.พ.30 เพิ่มเติม กรณียอดขายแจ้งไว้เกิน เนื่องจากสินค้า
เสียไม่ได้ถูกส่งคืนมายังบริษัทฯ เพื่อทำลายตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.84/2542 เรื่อง
แนวทางปฏิบัติกรณีการทำลายของเสียสินค้าที่เสื่อมคุณภาพ สินค้าที่มีตำหนิ สินค้าที่หมดสมัยนิยม สินค้าที่
หมดอายุและเศษซาก ลงวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 และหารือว่า หากบริษัทฯไม่สามารถนำ
ใบลดหนี้ดังกล่าวมายื่นแบบ ภ.พ.30 ควรให้บริษัทฯดำเนินการอย่างไร
แนววินิจฉัย: 1. ฐานภาษีสำหรับการขายสินค้าโดยส่งออก ได้แก่ มูลค่าของสินค้าส่งออกโดยให้ใช้ราคา
เอฟ.โอ.บี. ของสินค้า บวกด้วยภาษีสรรพสามิตตามที่กำหนดในมาตรา 77/1 (19) และภาษีและ
ค่าธรรมเนียมอื่นตามที่จะได้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา ทั้งนี้ ตามมาตรา 79/1 (1) แห่ง
ประมวลรัษฎากร ซึ่งบริษัทฯ ต้องลงรายการในรายงานภาษีขายตามมูลค่าของสินค้าส่งออกโดยให้ใช้
ราคา เอฟ.โอ.บี ตามใบขนสินค้าขาออก ไม่ใช่มูลค่าขายตามจำนวนเงินค่าสินค้าที่ผู้ซื้อโอนผ่านธนาคาร
เข้ามาให้แก่บริษัทฯในประเทศไทย ทั้งนี้ ตามมาตรา 87 แห่งประมวลรัษฎากรและข้อ 7 (9) ของ
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 89) เรื่อง กำหนดแบบ หลักเกณฑ์วิธีการ
และเงื่อนไข เกี่ยวกับการจัดทำรายงาน การลงรายการในรายงานการเก็บใบกำกับภาษีและเอกสาร
หลักฐานอื่นที่ใช้ประกอบการลงรายงานภาษีซื้อ ตามมาตรา 87 และมาตรา 87/3 วรรคสอง แห่ง
ประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2542
2. กรณีผู้ซื้อในประเทศญี่ปุ่นแจ้งว่าสินค้าไม่ได้มาตรฐานถือเป็นสินค้าเสียและได้จัดทำ
รายละเอียดสินค้าเสียพร้อมกับหักเงินค่าสินค้าเสียออกจากเงินค่าสินค้าที่ต้องชำระและโอนเงินชำระค่า
สินค้าผ่านธนาคารให้แก่บริษัทฯ ในประเทศไทย ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เป็นเหตุให้ภาษีขายที่คำนวณจากมูลค่า
ของสินค้าส่งออกลดลง ตามมาตรา 82/10 แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากการขายสินค้าโดยส่งออก
ต้องคำนวณมูลค่าของฐานภาษีตามราคา เอฟ.โอ.บี. ตามมาตรา 79/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
ไม่ใช่มูลค่าของฐานภาษีที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการขายสินค้าตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่ง
อาจมีการคำนวณราคาสินค้าหรือบริการเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ ดังนั้น การออกใบลดหนี้ตามรายการสินค้า
เสียให้แก่ผู้ซื้อในประเทศญี่ปุ่นจึงไม่เข้าลักษณะเป็นใบลดหนี้ ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร
บริษัทฯ จึงไม่ต้องนำมูลค่าสินค้าเสียตามใบลดหนี้มาหักออกจากภาษีขายของบริษัทฯ ในเดือนที่ออก
ใบลดหนี้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 82/10 แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 7 (10) ของ
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 89)ฯ ลงวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2542
บริษัทฯ จึงไม่ต้องยื่นแบบ ภ.พ.30 เพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงยอดขายส่งออกแต่อย่างใด สำหรับใบลดหนี้ที่
ออกให้แก่ผู้ซื้อในต่างประเทศถือเป็นเอกสารทางบัญชีเพื่อปรับปรุงรายการทางบัญชีของบริษัทฯ เท่านั้น
เลขตู้: 63/28789

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020