เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/87
วันที่: 10 มกราคม 2543
เรื่อง: ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี
ข้อกฎหมาย: มาตรา 91/2 (6), มาตรา 91/10, พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541
ข้อหารือ: กรมที่ดินหารือแนวทางปฏิบัติในการเรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะ ราย บรรษัทเงินทุน
อุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยมีข้อเท็จจริงดังนี้ บรรษัทฯ ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดของ
สำนักงานบังคับคดีจังหวัดฯ ได้นำโฉนดที่ดิน ซึ่งมีชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดฯ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ไปติดต่อที่
สำนักงานที่ดินจังหวัดฯ เพื่อจดทะเบียนระงับจำนอง (ศาลขายบังคับจำนอง) และขายตามคำสั่งศาล
ตามหนังสือศาลจังหวัดฯ จังหวัดฯ เห็นว่า การจดทะเบียนดังกล่าวอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะต้องเสีย
ภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4 (5) แห่ง
พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็น
ทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 แต่บรรษัทฯ ไม่ยินยอมเสียภาษีธุรกิจเฉพาะโดยอ้างว่า
ภาระในการชำระภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นของผู้ขาย และยืนยันให้พนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนระงับจำนอง
(ศาลขายบังคับจำนอง)และขายตามคำสั่งศาลให้แก่บรรษัทฯ แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่สามารถจดทะเบียน
ดังกล่าวให้แก่บรรษัทฯ ได้หากไม่มีการชำระภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/10 วรรคหก แห่ง
ประมวลรัษฎากร
กรมที่ดินมีความเห็นเช่นเดียวกับจังหวัดฯ ว่า กรณีดังกล่าวอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษี
ธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4 (5) แห่ง
พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 แต่เนื่องจากผู้ซื้อได้จากการขายทอดตลาดเป็นผู้นำหนังสือ
ของศาลพร้อมด้วยหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินไปขอจดทะเบียนแต่เพียงฝ่ายเดียว เจ้าของที่ดินที่ถูก
ขายทอดตลาดซึ่งถือว่าเป็นผู้ขายไม่ได้ไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีธุรกิจเฉพาะต่อพนักงาน
เจ้าหน้าที่ในขณะจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมด้วย พนักงานเจ้าหน้าที่จึงไม่อาจจดทะเบียนขายทอดตลาด
ให้แก่ผู้ซื้อได้ อันทำให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายแก่ผู้ซื้อได้จากการขายทอดตลาด จึงหารือว่าการ
จดทะเบียนขายทอดตลาดที่ดินตามคำสั่งศาลรายนี้ จะต้องเรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่ จะมีวิธีปฏิบัติ
อย่างไรหรือไม่ ที่จะทำให้สามารถจดทะเบียนสิทธิให้แก่ผู้ซื้อได้จากการขายทอดตลาดได้
แนววินิจฉัย: ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินที่มีชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดฯ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ และเป็นที่ดินที่ห้างฯ มีไว้
ในการประกอบกิจการ การขายที่ดินดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็น
ทางค้าหรือหากำไร ตามมาตรา 4 (5) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 อยู่ในบังคับ
ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ห้างฯ เป็น
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะดังกล่าว โดยห้างฯ ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีในขณะจดทะเบียนสิทธิ
และนิติกรรม พร้อมกับชำระภาษีต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมนั้น โดยให้กรมที่ดิน
เรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะเพื่อกรมสรรพากร และห้ามพนักงานเจ้าหน้าที่ลงนามรับรู้ ยอมให้ทำหรือบันทึก
ไว้จนกว่าจะได้รับเงินภาษีที่ต้องชำระให้ครบถ้วนถูกต้องแล้ว ตามมาตรา 91/10 แห่งประมวลรัษฎากร
ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 34) พ.ศ. 2541
อย่างไรก็ตาม หากมีการยื่นแบบแสดงรายการภาษีในนามของห้างฯ ในขณะจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม
พร้อมกับชำระภาษีต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมนั้นให้ครบถ้วนถูกต้องแล้ว
พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้แก่บรรษัทฯ ผู้ซื้อได้จากการขายทอดตลาดได้
เลขตู้: 63/28798

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020