เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ.88
วันที่: 10 มกราคม 2543
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการขออนุมัติการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม
ข้อกฎหมาย: มาตรา 88/6
ข้อหารือ: สำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ได้มีหนังสือ หารือสำนักงานสรรพากรภาค เพื่อหา
แนวทางปฏิบัติการขออนุมัติการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม ในกรณีประเมินไม่ทันภายในกำหนดเวลา 2 ปี
ตามมาตรา 88/6 (1) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร โดยแจ้งว่า ไม่สามารถประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มได้ทัน
ภายในกำหนดสองปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีฯ และต้องขออนุมัติ
ขยายเวลาการประเมินภาษีต่ออธิบดี ตามนัยมาตรา 88/6 วรรคท้าย ซึ่งกำหนดว่า กรณีมีเหตุอันควร
เชื่อว่าผู้ประกอบการ ผู้นำเข้า หรือผู้มีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มแสดงรายการตามแบบแสดงรายการภาษี
แบบใบขนสินค้า หรือแบบนำส่งภาษีไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่สมบูรณ์ ให้เจ้าพนักงานประเมิน
โดยอนุมัติอธิบดีประเมินภาษีได้ภายในกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่กำหนดเวลาตาม (1) (ก) (2) และ
(3) แล้วแต่กรณี ในทางปฏิบัติ มีปัญหาว่าจะต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีก่อน หรือหลังกำหนดเวลา 2 ปี
นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีฯ
เรื่องนี้ได้มีแนววินิจฉัยของกรมสรรพากร ที่ กค 0802(กม)/977 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม
2537 วินิจฉัยว่า“การขออนุมัติขยายเวลาการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มในกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ นั้น
กฎหมายไม่ได้บัญญัติโดยชัดแจ้งว่าให้เจ้าพนักงานประเมินต้องขออนุมัติต่ออธิบดีกรมสรรพากรเมื่อใด
ภายในระยะเวลาห้าปีดังกล่าว เพื่อที่จะให้สามารถทำการประเมินได้ภายในกำหนดระยะเวลาข้างต้น
ก็ตาม ควรจะตีความให้ถือเป็นทางปฏิบัติว่า ให้เจ้าพนักงานประเมินขออนุมัติต่ออธิบดีกรมสรรพากร
ภายในสองปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี หรือวันยื่นใบขนสินค้าหรือวันพ้น
กำหนดเวลานำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 88/6 (1) (ก) หรือมาตรา 88/6 (2) หรือมาตรา
88/6 (3) แห่งประมวลรัษฎากร ตามลำดับแล้วแต่กรณี”
สำนักงานสรรพากรภาคเห็นว่า บทบัญญัติตามมาตรา 88/6 แห่งประมวลรัษฎากร ได้
กำหนดให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มได้ภายในกำหนดเวลาสองปีนับแต่วันสุดท้าย
แห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีฯ แต่หากจะประเมินภายหลังกำหนดเวลา 2 ปี แต่ไม่เกิน 5
ปี เจ้าพนักงานประเมินจะทำการประเมินได้โดยได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร ซึ่งไม่กำหนดว่าจะ
ต้องขออนุมัติก่อนครบกำหนดเวลา 2 ปีแต่อย่างใด และได้มีคำพิพากษาฎีกา วินิจฉัยว่า หาก
เจ้าพนักงานประเมินจะทำการประเมินภาษีภายในกำหนดเวลา 5 ปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่น
แบบแสดงรายการภาษี กระทำได้โดยอนุมัติอธิบดีโดยไม่ต้องขออนุมัติขอประเมินภาษีต่ออธิบดีก่อนครบ
กำหนดเวลา 2 ปี แนวคำวินิจฉัยของกรมสรรพากรแตกต่างจากแนวคำพิพากษาของศาลฎีกา จึงรายงาน
กรมสรรพากรเพื่อพิจารณาสั่งการ และหากผลการพิจารณาเป็นประการใด ขอได้แจ้งให้สำนักงาน
สรรพากรภาคทราบ เพื่อจะได้ดำเนินการต่อไป
แนววินิจฉัย: การขออนุมัติและการอนุมัติการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม มีสิทธิขออนุมัติและอนุมัติ
การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มภายหลังจากครบกำหนดเวลา 2 ปีได้ แต่ต้องไม่เกิน 5 ปีนับแต่วันสุดท้ายแห่ง
กำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีฯ
เลขตู้: 63/28799

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020