เลขที่หนังสือ | : กค 0811/90 |
วันที่ | : 10 มกราคม 2543 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการเรียกเก็บเงินประกันการเช่า |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 78/1, มาตรา 81 (1) (ต), คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.73/2541ฯ |
ข้อหารือ | : บริษัท ก. จำกัด ประกอบกิจการให้เช่าอาคารและให้บริการสาธารณูปโภค รักษา ความสะอาด และรักษาความปลอดภัย บริษัทฯ ได้เรียกเก็บเงินประกันการเช่าและเงินประกันการ บริการตามสัญญาการเช่าและสัญญาการให้บริการ เพื่อประกันว่าผู้เช่าจะปฏิบัติตามสัญญาเช่าและสัญญา บริการทุกประการ บริษัทฯ จึงขอทราบว่า 1. บริษัทฯ ไม่ต้องนำเงินประกันมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ เพราะเงินประกันนั้นไม่ได้ ก่อให้เกิดเป็นรายได้ของบริษัทฯ แต่อย่างใด อีกทั้งเงินประกันนั้นยังไม่ตกเป็นสิทธิของบริษัทฯ หรือเป็น เงินที่บริษัทฯ พึงได้รับแต่ประการใด 2. บริษัทฯ ต้องนำเงินประกันมาคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ในขณะที่ได้เงินประกันนั้นหรือไม่ |
แนววินิจฉัย | : 1. กรณีตาม 1. เนื่องจากสัญญาเช่าอาคารศูนย์การค้าและสัญญาบริการดังกล่าว ผู้ให้เช่า มีสิทธินำเงินประกันมาหักกลบกับค่าเช่าหรือค่าบริการที่ค้างชำระได้ กรณีถือว่าการหักกลบลบหนี้ดังกล่าว เป็นการคืนเงินประกันแล้ว ดังนั้น (1) กรณีสัญญาให้เช่าทรัพย์สินและสัญญาบริการที่มีอายุสัญญาไม่เกิน 3 ปี และ เงินประกันที่บริษัทฯ เรียกเก็บไม่เกิน 6 เท่าของค่าเช่าหรือค่าบริการรายเดือน เงินประกันที่ได้รับ ดังกล่าว บริษัทฯ ไม่ต้องนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งนี้ ตามข้อ 3 (2) แห่งคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.73/2541 เรื่อง การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับ การเรียกเก็บเงินจ่ายล่วงหน้า เงินประกัน เงินมัดจำ หรือเงินจอง ลงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.74/2541 ฯ ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2541 (2) กรณีสัญญาให้เช่าทรัพย์สินและสัญญาบริการที่มีอายุสัญญาเกิน 3 ปี เงินประกันที่ได้ รับดังกล่าวบริษัทฯ ต้องนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งนี้ ตามข้อ 2 (1) (ก) แห่งคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.73/2541 ฯ ลงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.74/2541 ฯ ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2541 และหนังสือด่วนมาก ที่ กค 0811/ว.04068 ลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2542 2. กรณีตาม 2. การเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเงินประกันการเช่าอาคารศูนย์การค้าและ ให้บริการแยกพิจารณาได้ดังนี้ (1) กรณีการให้เช่าทรัพย์สินที่มิใช่อสังหาริมทรัพย์ หรือการให้บริการอื่น ต้องนำ เงินประกันทั้งหมดที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการให้เช่าทรัพย์สิน หรือการให้บริการอื่น มารวมคำนวณเป็น มูลค่าของฐานภาษี ตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร โดยถือว่าความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เกิดขึ้นในขณะได้รับชำระเงินดังกล่าว ตามมาตรา 78/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร (2) กรณีการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ เงินประกันที่เรียกเก็บถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าเช่า อสังหาริมทรัพย์ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (1) (ต) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ตามข้อ 2 (3) แห่งคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.73/2541 ฯ ลงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2541 |
เลขตู้ | : 63/28801 |