เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/256
วันที่: 17 มกราคม 2543
เรื่อง: อากรแสตมป์ กรณีการโอนสิทธิการรับจำนอง
ข้อกฎหมาย: มาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์, ลักษณะตราสาร 28 (ข) แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์
ข้อหารือ: บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (บบส.) ประกอบธุรกิจรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ทุก
ประเภทของบริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ (สถาบันการเงิน) ที่ถูกระงับการดำเนิน
กิจการตามคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2540 และวันที่ 5
สิงหาคม 2540 และรับซื้อหรือรับโอนสินเชื่อตราสารหนี้ด้อยคุณภาพที่มีการค้างชำระดอกเบี้ยตั้งแต่สาม
เดือนขึ้นไปของสถาบันการเงินอื่นที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเข้าถือหุ้นเนื่องจาก
ในการโอนสิทธิเรียกร้องในสินเชื่อ ตราสารหนี้ดังกล่าวบบส.จำเป็นต้องดำเนินการโอนสิทธิในบรรดา
หลักประกันของสินเชื่อที่ซื้อมาเป็นของ บบส. โดยการจดทะเบียนการรับโอนสิทธิการรับจำนองจาก
สถาบันการเงิน ด้วยเหตุนี้จึงเกิดภาระค่าอากรในอัตราร้อยละ 0.5 ของวงเงินจำนองตามลักษณะแห่ง
ตราสาร 28.(ข) แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ บบส. จึงขอทราบว่า การโอนสิทธิการรับจำนองดังกล่าว
ต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรหรือไม่
แนววินิจฉัย: นิติกรรมการโอนสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้สินเชื่อและหนี้ที่เกี่ยวกับเงินกู้หรือตั๋วสัญญาใช้เงิน
ซึ่งเป็นนิติกรรมที่เป็นเหตุให้ออกใบรับตามข้อเท็จจริงไม่ใช่นิติกรรมประเภทที่ต้องจดทะเบียนตามกฎหมาย
ใบรับดังกล่าวจึงไม่ต้องปิดอากรแสตมป์ตามลักษณะตราสาร 28.(ข) แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์และ
สิทธิจำนองอันเป็นหลักประกันของหนี้ที่มีการโอนให้แก่ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าว ย่อมตกไปเป็นของ
ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องตามมาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้นการจดทะเบียนเพื่อ
เปลี่ยนแปลงชื่อผู้รับการจำนองทางทะเบียนจากผู้โอนสิทธิการรับจำนองไปเป็นผู้รับโอนสิทธิจำนอง จึงไม่
อยู่ในข่ายต้องเสียอากรแสตมป์แต่อย่างใด
เลขตู้: 63/28818

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020