เลขที่หนังสือ | : กค 0811/407 |
วันที่ | : 21 มกราคม 2543 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีดอกเบี้ยเงินกู้ยืมระหว่างบริษัทในเครือ |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 65, มาตรา 65 ทวิ (4), มาตรา 91/8 |
ข้อหารือ | : บริษัท อ. จำกัด เป็นนิติบุคคลต่างด้าวที่จดทะเบียนในประเทศไทยโดยมีบริษัท ม. จำกัด ประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้ถือหุ้นโดยมีทุนจดทะเบียน 6,000 ล้านบาท และมีวัตถุประสงค์ตามหนังสือบริคณห์สนธิ ให้การสนับสนุนธุรกิจทางการตลาด ตลอดจนเทคโนโลยีในการผลิตและการจัดการให้แก่บริษัทในเครือ ของบริษัทมิตซูบิชิฯ ทั้งหมดในประเทศไทย เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปอย่างเข้มแข็งและมี ประสิทธิภาพในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2541 บริษัท ต. จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลไทย และเป็น บริษัทในเครือของบริษัทมิตซูบิชิฯ เช่นเดียวกัน ซึ่งประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมรถยนต์และอุตสาหกรรม อื่น ๆ ได้ประสบปัญหาสภาวะเศรษฐกิจหดตัวอย่างรุนแรงและส่งผลกระทบโดยตรงต่อการบริโภคสินค้า ประเภทรถยนต์ บริษัท ต. จึงประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนัก จึงจำเป็นต้องขอกู้ยืมเงินจากบริษัท อ. จำกัด ในวงเงินกู้รวมทั้งสิ้น 6,000 ล้านบาทอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี (ซึ่งบริษัทฯ ได้จ่าย ดอกเบี้ยกู้ยืมประมาณร้อยละ 0.06 - 0.08 ต่อปี กรณีกู้ยืมเป็นเงินเยน) บริษัทฯ จึงขอหารือดังนี้ 1. บริษัทฯ สามารถนำรายรับที่ได้จากดอกเบี้ยเงินกู้ยืมดังกล่าว ซึ่งบริษัทฯ ยังไม่ได้รับ ดอกเบี้ยเงินกู้ (แต่ได้ตั้งบัญชีค้างรับไว้ในปี 2541) มาถือเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสีย ภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2541 ได้นับตั้งแต่วันที่ให้กู้ บริษัทฯ เข้าใจเช่นนี้ถูกต้อง หรือไม่ 2. บริษัทฯ สามารถนำส่งภาษีธุรกิจเฉพาะจากรายได้ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมดังกล่าวเมื่อได้รับ ชำระดอกเบี้ยตามเกณฑ์เงินสด ถูกต้องหรือไม่ 3. บริษัทฯ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท ม. จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ได้คิดอัตราดอกเบี้ย เงินกู้ยืมแก่บริษัท ต. จำกัด ในอัตราร้อยละ 3 ถือเป็นเหตุผลอันสมควรตามมาตรา 65 ทวิ แห่ง ประมวลรัษฎากร ถูกต้องหรือไม่ |
แนววินิจฉัย | : 1. กรณีตามข้อ 1 บริษัทฯ จะต้องนำรายได้จากดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่เกิดขึ้นใน รอบระยะเวลาบัญชีปี 2541 แม้ว่าจะยังไม่ได้รับในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2541 มารวมคำนวณเป็น รายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2541 ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร 2. กรณีตามข้อ 2 บริษัทฯ จะนำรายรับจากดอกเบี้ยเงินกู้ยืมมาเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตาม เกณฑ์เงินสดได้เมื่อบริษัทฯ ได้เลือกเกณฑ์เงินสดในการคำนวณรายรับแต่ต้องปฏิบัติตลอดไป เว้นแต่จะได้ รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้เปลี่ยนแปลงได้ ทั้งนี้ตามนัยมาตรา 91/8 วรรคสอง แห่ง ประมวลรัษฎากร 3. กรณีตามข้อ 3 บริษัทฯ ให้กู้ยืมเงินแก่บริษัท ต. จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท ม. จำกัด เช่นเดียวกันเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาทางการเงินโดยคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ในขณะที่บริษัทฯ ได้จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมประมาณร้อยละ 0.06 - 0.08 ต่อปี กรณีกู้เป็นเงินเยน ถือว่า มีเหตุอันสมควร ตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 63/28837 |