เลขที่หนังสือ | : กค 0811/412 |
วันที่ | : 21 มกราคม 2543 |
เรื่อง | : ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการโอนอสังหาริมทรัพย์ทางมรดกที่เจ้ามรดกได้มาเกิน 5 ปี ให้แก่ผู้รับพินัยกรรมซึ่งมิใช่ทายาทโดยธรรม |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 4 (6), พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 |
ข้อหารือ | : กรมที่ดินขอหารือ ภาษีธุรกิจเฉพาะดังนี้ 1. การโอนอสังหาริมทรัพย์ทางมรดกที่เจ้ามรดกได้มาเกิน 5 ปี (1) จังหวัดหารือกรณี นางสาว ก. ผู้จัดการมรดกนางสาว ข. ได้ยื่นคำขอ จดทะเบียนโอนมรดกโฉนดที่ดินซึ่งเจ้ามรดกได้ถือครองมาเกิน 5 ปี ให้แก่ตนเองในฐานะทายาทตาม พินัยกรรม โดยนางสาว ก. ไม่ใช่ทายาทโดยธรรม กรณีดังกล่าวจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่ (2) จังหวัด หารือกรณี นาย ต. ผู้จัดการมรดกนาย จ. ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนโอน มรดกที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่นางสาว ว. ตามพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองของนาย จ. พนักงาน เจ้าหน้าที่ได้ทำการสอบสวนแล้วปรากฏว่า นางสาว ว. เป็นหลานตาของเจ้ามรดก และมารดาของ ผู้รับโอนยังมีชีวิตอยู่ กรณีดังกล่าวจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่ 2. การนับระยะเวลาได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ และการรับมรดกของทายาทตามพินัยกรรม (1) กรณีการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองทางมรดก ให้แก่ทายาทผู้รับพินัยกรรมที่ ไม่ใช่ทายาทโดยธรรมซึ่งได้กระทำภายในห้าปีนับแต่วันได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ การนับระยะเวลาห้าปี นับแต่วันได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น จะเริ่มนับตั้งแต่เมื่อใด ถึงเมื่อใด กล่าวคือ นับตั้งแต่วันที่เจ้ามรดก ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้นจนถึงวันที่เจ้ามรดกถึงแก่กรรม หรือนับแต่วันที่เจ้ามรดกถึงแก่กรรมจนถึงวันที่ ทายาทจดทะเบียนรับโอนมรดก หรือนับตั้งแต่วันที่เจ้ามรดกได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์จนถึงวันที่ทายาท จดทะเบียนรับโอนมรดกนั้น (2) กรณีเจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ทายาทชั้นหลาน ในขณะที่ ทายาทชั้นบุตรยังมีชีวิตอยู่ หรือเจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในลำดับหลัง ในขณะที่ยังมีทายาทโดยธรรมในลำดับแรกอยู่ จะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 4 (6) (จ) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 หรือไม่ เนื่องจากการโอนมรดกให้แก่ทายาทโดยธรรม ตามมาตรา 1630 และ 1631 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติไว้ว่า ทายาทโดยธรรมที่อยู่ในลำดับต้น หรือชั้นสนิทที่สุด มีสิทธิได้รับมรดกก่อน |
แนววินิจฉัย | : 1. กรณีตาม 1 (1) และ (2) การโอนที่ดินได้กระทำเมื่อพ้นกำหนดเวลา 5 ปีแล้ว การ โอนกรณีดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ตามมาตรา 4 (6) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 จึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีทายาทผู้รับพินัยกรรมซึ่งเป็นทายาทโดยธรรม ได้ขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับตาม พินัยกรรม แม้ว่าจะขายภายใน 5 ปีนับแต่วันที่เป็นผู้รับพินัยกรรม ถือเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มา โดยทางมรดก ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 4 (6) (ข) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 2. กรณีตาม 2 (1) การนับระยะเวลาการถือครองของผู้โอน ให้นับแต่วันที่ได้มาซึ่ง อสังหาริมทรัพย์ถึงวันที่เจ้ามรดกถึงแก่กรรม ส่วนการนับระยะเวลาได้มาของทายาทผู้รับโอน ให้นับแต่ วันที่เจ้ามรดกถึงแก่กรรม ตามมาตรา 1599 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แม้ว่าจะยังไม่ได้ จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนแก้ชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในทะเบียนโฉนดที่ดินก็ตาม กรณีตาม 2 (2) การโอนที่ดินโดยทางมรดก ซึ่งไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจะต้องเป็น การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ทางมรดกให้แก่ทายาทโดยธรรมหรือ ผู้รับพินัยกรรมซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมเท่านั้น ทั้งนี้ ตามมาตรา 4 (6) (จ) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2541 แต่หากเป็นการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยทาง มรดกที่เจ้ามรดกได้กระทำเมื่อพ้นกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ได้มา ไม่ว่าผู้รับพินัยกรรมจะเป็นใครก็ ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ |
เลขตู้ | : 63/28842 |