เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/477
วันที่: 25 มกราคม 2543
เรื่อง: ภาษีเงินได้ชำระแทนผู้ประกอบการค้ายาสูบที่มีข้อบัญญัติให้เก็บภาษีองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)
ข้อกฎหมาย: มาตรา 48 ทวิ, มาตรา 65 จัตวา
ข้อหารือ: มาตรา 64 (2) แห่งพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 กำหนดให้
องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีอำนาจออกข้อบัญญัติเก็บภาษีบำรุงองค์การบริหารส่วนจังหวัดจากสถานค้าปลีก
ยาสูบในเขตจังหวัดได้ไม่เกินมวนละ 5 สตางค์ ซึ่งต่อมากรมสรรพสามิตได้ออกประกาศกรมสรรพสามิต
เรื่อง กำหนดราคายาสูบ (ฉบับที่ 3/2542) ลงวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2542 และประกาศ
กรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดราคายาสูบ (ฉบับที่ 5/2542) ลงวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2542 กำหนด
ราคาขายบุหรี่ซิกาแรต สำหรับร้านค้าที่อยู่นอกเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด และสำหรับร้านค้าที่อยู่ใน
เขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยกำหนดราคาขายบุหรี่ซิกาแรตในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด
มากกว่าราคาขายนอกเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 1 บาท และโรงงานยาสูบก็ได้ออก
ประกาศกำหนดราคาขายบุหรี่ซิกาแรตของโรงงานยาสูบสำหรับร้านค้ายาสูบที่ตั้งอยู่ในเขต
องค์การบริหารส่วนจังหวัดที่มีข้อบัญญัติให้เก็บภาษียาสูบ ลงวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 ซึ่งประกอบ
ด้วยราคาโรงงานยาสูบ ราคาขายส่ง ราคาขายส่งช่วงและราคาขายปลีก โรงงานยาสูบหารือว่า กรณี
โรงงานยาสูบมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้แทนผู้ขายในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด ต้องคำนวณกำไรจาก
การขายยาสูบจากฐานราคาขายปลีกที่โรงงานยาสูบประกาศกำหนด หรือคำนวณจากฐานราคาขายปลีกที่
กรมสรรพสามิตประกาศกำหนด
แนววินิจฉัย: 1. โรงงานยาสูบมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้แทนผู้ขายสินค้าทอดหนึ่งทอดใดหรือทุกทอดที่ซื้อ
ยาสูบของโรงงานยาสูบตามวิธีการ อัตรา และประเภทยาสูบตามที่กำหนดโดยกฎกระทรวง ทั้งนี้ เฉพาะ
สำหรับเงินได้จากการขายยาสูบนั้น ตามมาตรา 48 ทวิ และมาตรา 65 จัตวา แห่งประมวลรัษฎากร
ซึ่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 134 (พ.ศ. 2516) และกฎกระทรวง ฉบับที่ 158 (พ.ศ. 2526) กำหนดว่า
โรงงานยาสูบจะต้องเสียภาษีเงินได้แทนผู้ขายยาสูบทุกทอดที่ซื้อยาสูบของโรงงานยาสูบ ทั้งกรณีผู้ขาย
ทุกทอดเป็นบุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 12.5 ของ
กำไรของผู้ขายส่งไม่ว่าทอดใด และในอัตราร้อยละ 10.0 ของกำไรของผู้ขายปลีก
2. โดยที่ “กำไร” หมายความว่า ผลต่างระหว่างราคาขายกับราคาซื้อสินค้าที่
โรงงานยาสูบกำหนดไว้สำหรับผู้ขายส่งแต่ละทอดหรือผู้ขายปลีกแล้วแต่กรณีคูณด้วยปริมาณสินค้าที่
โรงงานยาสูบขายให้ผู้ขายส่งทอดแรก ดังนั้นการคำนวณกำไรเพื่อเสียภาษีเงินได้ของผู้ขายส่งไม่ว่าทอด
ใดและการคำนวณกำไรของผู้ขายปลีก จึงต้องคำนวณจากฐานราคาขายส่งและราคาขายปลีกตามประกาศ
กำหนดราคาขายบุหรี่ซิกาแรตของโรงงานยาสูบ
3. อย่างไรก็ดี ปัจจุบันกรมสรรพสามิตได้ออกประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดราคา
ยาสูบ (ฉบับที่ 7/2542) ลงวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2542 กำหนดราคาขายปลีกสำหรับผู้รับอนุญาตขาย
ยาสูบประเภทต่าง ๆ ซึ่งเป็นราคาเดียวกันทั่วประเทศไม่ว่าร้านค้าจะตั้งอยู่ในเขต
องค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือไม่ก็ตาม และเป็นราคาเดียวกันกับราคาขายปลีกที่โรงงานยาสูบประกาศ
กำหนด
เลขตู้: 63/28846

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020