เลขที่หนังสือ | : กค 0811/พ.569 |
วันที่ | : 26 มกราคม 2543 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการขอคืนภาษีซื้อเนื่องจากสินค้าถูกฉ้อโกง |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 77/1 (18) (ก), มาตรา 82/3 |
ข้อหารือ | : สำนักงานสรรพากรภาคได้มีหนังสือหารือกรณีสรรพากรพื้นที่ได้ตรวจปฏิบัติการการขอคืน ภาษีมูลค่าเพิ่มราย บริษัท ก. จำกัด ซึ่งประกอบกิจการนำเข้าส่งออกอัญมณี จากการตรวจปฏิบัติการพบ ว่า บริษัทฯ ได้ถูกนางสาว ข. พนักงานของบริษัทฯ ฉ้อโกงเพชรเจียระไน จำนวน 3,103.149 กะรัต มูลค่ารวม 71,808,117 บาท การฉ้อโกงเกิดระหว่างวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2538 ถึงวันที่ 2 สิงหาคม 2538 ซึ่งบริษัทฯ ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสำนักงานกองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดี เศรษฐกิจ และพนักงานอัยการได้มีคำสั่งฟ้องนางสาว ข. ในคดีฉ้อโกงทรัพย์แล้ว และบริษัทฯ ได้ยื่นฟ้อง ต่อศาลแรงงานกลางอีกคดีหนึ่งด้วย สรรพากรพื้นที่จึงหารือว่า กรณีสินค้าของบริษัทฯ ซึ่งนำเข้าจาก ต่างประเทศและได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ด่านศุลกากรแล้ว บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีซื้อจากสินค้าที่ถูกฉ้อโกง โดยการดำเนินคดียังไม่ถึงที่สุดมาขอคืนภาษีซื้อได้หรือไม่ สำนักงานสรรพากรภาคเห็นว่า กรณีการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของบริษัทฯ เกิดจาก การนำเข้าอัญมณีมาเพื่อใช้ในการประกอบกิจการ จึงเป็นภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการ ประกอบกิจการ ตามมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร และไม่ถือเป็นภาษีซื้อต้องห้ามนำมาหักใน การคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร แต่กรณีการนำเข้าสินค้าของบริษัทฯ นำเข้ามาเพื่อขาย แต่ถูกฉ้อโกงไปทำให้สินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ ตามมาตรา 87 (3) หรือมาตรา 87 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ถือว่าเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1 (8) (จ) แห่งประมวลรัษฎากร จึงเห็นว่า สรรพากรพื้นที่ต้องตรวจสอบด้วยว่าบริษัทฯ ได้นำส่งภาษีถูกต้องหรือไม่ |
แนววินิจฉัย | : การที่บริษัทฯ นำเข้าอัญมณีจากต่างประเทศ บริษัทฯ มีฐานะเป็นผู้นำเข้า ตามมาตรา 77/1 (11) แห่งประมวลรัษฎากร หากบริษัทฯ ได้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้า ตามมาตรา 83/8 แห่งประมวลรัษฎากร ภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวย่อมเป็นภาษีซื้อของบริษัทฯ ตามมาตรา 77/1 (18) (ก) แห่งประมลรัษฎากร และภาษีซื้อดังกล่าวถือเป็นภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องกับกิจการของบริษัทฯ โดยตรง บริษัทฯ จึงมีสิทธิขอคืนภาษีซื้อดังกล่าวได้ ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 63/28849 |