เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/629
วันที่: 27 มกราคม 2543
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ของสถานพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร
ข้อกฎหมาย: มาตรา 50 (4), มาตรา 69 ทวิ
ข้อหารือ: สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ได้หารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณี
สถานพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ฯ ได้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายระบบประกันสังคมกับโรงพยาบาล
เอกชนหรือคลีนิค เพื่อรับช่วงการให้บริการแก่ผู้ประกันตน เมื่อผู้ประกันตนเข้ารับการรักษาพยาบาลใน
โรงพยาบาลเอกชนหรือคลีนิคที่เข้าเป็นเครือข่ายร่วมกับสถานพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ฯ
สถานพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ฯ จะเป็นผู้ชำระค่าใช้จ่ายให้กับโรงพยาบาลเอกชนหรือคลีนิคนั้น
จึงหารือว่าเมื่อสถานพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ฯ จ่ายค่าใช้จ่ายตามใบแจ้งหนี้ให้กับโรงพยาบาล
เอกชนหรือคลีนิคดังกล่าว ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย เพื่อนำส่งกรมสรรพากรหรือไม่
แนววินิจฉัย: กรณีสถานพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร จ่ายค่าใช้จ่ายให้กับ
โรงพยาบาลเอกชนหรือคลีนิคเมื่อผู้ประกันตนเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนหรือคลีนิคที่
เป็นเครือข่ายระบบประกันสังคมร่วมกับสถานพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ฯ สถานพยาบาลในสังกัด
สำนักการแพทย์ฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ดังนี้
1. กรณีผู้รับเงินเป็นบุคคลธรรมดา สถานพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ฯ มีหน้าที่หัก
ภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 (4) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับการจ่ายเงินให้กับผู้รับรายหนึ่ง ๆ
ตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป แม้การจ่ายนั้นจะได้แบ่งจ่ายครั้งหนึ่ง ๆ ไม่ถึง 10,000 บาท ให้คำนวณหัก
ภาษีในอัตราร้อยละ 1 ของยอดเงินได้พึงประเมินที่จ่าย
2. กรณีผู้รับเงินเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สถานพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ฯ
มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตราร้อยละ 1 ของ
ยอดเงินได้พึงประเมินที่จ่าย
เลขตู้: 63/28851

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020