เลขที่หนังสือ | : กค 0811/พ.632 |
วันที่ | : 27 มกราคม 2543 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม การขายน้ำมันพืช |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 81 (1) (ก) |
ข้อหารือ | : บริษัท ก. จำกัด จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2534 ได้ยื่นคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยแสดงมูลเหตุที่ขอคืนว่าได้ขายสินค้าซึ่งได้รับ ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และขอใช้สิทธิตามประกาศกรมสรรพากร เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการยื่นรายการ และชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม ของผู้ประกอบการทั้งที่เป็นผู้ขายและผู้ซื้อน้ำมันดิบของพืช ลงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2538 ตั้งแต่เดือนมกราคม 2535 - ธันวาคม 2537 รวมทั้งสิ้น 12,184,676.99 บาท ซึ่งจาก การไต่สวนผู้ประกอบการปรากฏข้อเท็จจริง ดังนี้ 1. บริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายน้ำมันพืช ได้แก่ น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ชนิดไม่แยก ไข กรดไขมันปาล์ม น้ำมันปาล์มโอเลอีน น้ำมันปาล์มสเตียรีน น้ำมันปาล์มดิบ น้ำมันปาล์มโอเลอีน ชนิด แบ่งบรรจุเป็นปี๊บและขวด 2. กรรมวิธีการผลิตและการจำหน่าย บริษัทฯ จะซื้อน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ซึ่งผ่านการ สกัดน้ำมันจากโรงหีบน้ำมันปาล์ม แล้วนำมาสกัดเอากรดไขมันอิสระออก จะได้ผลผลิตในขั้นที่ 1 คือ 2.1 น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ยังไม่แยกไข (RBDPO) และกรดไขมัน (PFAD) ซึ่ง น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ยังไม่แยกไข (RBDPO) จะส่งจำหน่ายเป็นจำนวนแท็งค์บรรทุกส่งให้แก่ลูกค้าประเภท อุตสาหกรรมอาหาร ส่วนกรดไขมันจะส่งจำหน่ายเป็นจำนวนแท็งค์บรรทุกส่งให้ลูกค้าที่เป็นอุตสาหกรรม อาหารสัตว์และลูกค้าประเภทอุตสาหกรรมเคมี 2.2 น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ซึ่งยังไม่แยกไข ส่วนที่เหลือจะนำมาผ่านกระบวนการการผลิต ขั้นที่ 2 จะได้น้ำมันปาล์มโอเลอีน (RBDOL) และน้ำมันปาล์มซึ่งตกตะกอน เรียกว่า ปาล์มสเตียรีน (RBDST) น้ำมันปาล์มโอเลอีน*จะนำมาแบ่งขายในลักษณะเป็นจำนวนแท็งค์* และอีกส่วนแบ่งบรรจุปี๊บภายใต้ เครื่องหมาย N และบรรจุขวดภายใต้เครื่องหมาย P ส่วนน้ำมันปาล์มสเตียรีน (RBDST) จะขาย เป็นจำนวนแท็งค์ให้กับลูกค้าประเภทอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และประเภทอุตสาหกรรมผลิตเครื่องอุปโภค 3. ในการจำหน่ายหลังเดือนมิถุนายน 2536 บริษัทฯ จำหน่ายสินค้าดังนี้ 3.1 น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ไม่แยกไข (RBDPO) และน้ำมันปาล์มโอเลอีน (RBDOL) บริษัทฯ ได้เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและนำส่งทางราชการแล้ว 3.2 กรดไขมัน (PFAD) และปาล์มสเตียรีน (RBDST) บริษัทฯ ไม่ได้เรียกเก็บ ภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยแจ้งว่าได้ถือปฏิบัติตามหนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802(ก)/พ.8945 ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2535 จังหวัดฯ เห็นว่า ตามที่คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ 23/2536 ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2536 วินิจฉัยว่าการขายน้ำมันดิบของพืชที่ยังมิได้แปรรูปหรือแปรสภาพเป็นอาหารไม่ว่าจะมีสารกันเสีย หรือสารอย่างอื่นในลักษณะทำนองเดียวกันผสมอยู่ด้วยหรือไม่ เข้าลักษณะเป็นการขายพืชผลและวัตถุพลอย ได้จากพืชที่รักษาไว้เพื่อมิให้เสียเพื่อการขายปลีกหรือขายส่งได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตาม มาตรา 81 (1) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร แต่โดยเหตุที่ข้ออ้างของบริษัทฯ ซึ่งเป็นมูลเหตุที่ขอคืน ภาษีมูลค่าเพิ่ม ยังไม่ชัดแจ้งเนื่องจากบริษัทฯ จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการผลิตน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ผลิต น้ำมันพืชและไขมันพืช และรับจ้างผลิตน้ำมันพืช และลักษณะของสินค้าซึ่งบริษัทฯ ได้ขายไปก็มีหลายชนิด บางชนิด บริษัทฯ เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม บางชนิดยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มและได้ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่ง ได้เรียกเก็บไว้จากสินค้าบางประเภทหากบริษัทฯ ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ทางราชการก็จะต้องติดตาม เรียกเงินคืนจากผู้ประกอบการจดทะเบียน ซึ่งได้ซื้อสินค้าและได้ขอเครดิตภาษีซื้อ หรือขอคืนเงินภาษี กลับคืนมาอีกซึ่งเป็นจำนวนหลายรายต่อไป จึงหารือจากข้อเท็จจริงและกรรมวิธีการผลิตสินค้าของบริษัทฯ ซึ่งปรากฏรายละเอียดตาม 2 สินค้าชนิดใดได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร และกรณีบริษัทฯ ซื้อน้ำมันปาล์มดิบจากโรงงานสกัดน้ำมันพืชแล้วขายต่อให้กับผู้ประกอบการผลิตน้ำมันพืชรายอื่น โดยมิได้ ผ่านกระบวนการขั้นตอนการผลิตของบริษัทฯจะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มและมีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งได้เรียกเก็บไว้หรือไม่ |
แนววินิจฉัย | : บริษัทฯ ซื้อน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ซึ่งผ่านการสกัดน้ำมันจากโรงหีบน้ำมันปาล์มแล้วนำมา สกัดเอากรดไขมันอิสระออก จะได้น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ยังไม่แยกไข (RBDPO) และกรดไขมัน (PFAD) น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ซึ่งยังไม่แยกไขส่วนที่เหลือจะผ่านกระบวนการผลิตขั้นที่ 2 ได้น้ำมันปาล์มโอเลอีน (RBDOL) และน้ำมันปาล์มข้นซึ่งตกตะกอน เรียกว่า ปาล์มสเตียรีน (RBDST) สินค้าที่บริษัทฯ ผลิตขายจึง ได้แก่น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ยังไม่แยกไข(RBDPO) กรดไขมัน (PFAD) น้ำมันปาล์มโอเลอีน (RBDOL) และ น้ำมันปาล์มข้นหรือปาล์มสเตียรีน (RBDST)สินค้าทั้ง 4 ชนิด ไม่เข้าลักษณะน้ำมันดิบของพืชตาม คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีบริษัทฯ ซื้อน้ำมันปาล์มดิบจากโรงงานสกัดน้ำมันพืชแล้วขายต่อให้กับผู้ประกอบการผลิต น้ำมันพืชรายอื่นโดยมิได้ผ่านกระบวนการขั้นตอนการผลิตของบริษัทฯ เข้าลักษณะเป็นการขาย น้ำมันปาล์มดิบจึงเป็นการขายน้ำมันดิบของพืช ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร หากมิได้ บรรจุกระป๋อง ภาชนะ หรือหีบห่อที่ผนึกในลักษณะมั่นคง ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 63/28854 |