เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/1522
วันที่: 29 กุมภาพันธ์ 2543
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณียื่นแบบแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.09) ระบุว่าเลิกประกอบกิจการ แต่ยังคงมีการขายสินค้าหรือให้บริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มต่อไป
ข้อกฎหมาย: มาตรา 85/15, มาตรา 86
ข้อหารือ: บริษัท ก. จำกัด ประกอบกิจการให้เช่าทรัพย์สินแบบลิสซิ่ง ต่อมาได้มีการประชุมผู้ถือหุ้นซึ่ง
มีมติพิเศษให้เลิกประกอบกิจการ แต่บริษัทฯ ยังมีผู้เช่าซึ่งต้องชำระค่าเช่าตามสัญญาที่ได้กระทำไว้ก่อน
การเลิกประกอบกิจการ บริษัทฯ จึงหารือว่า
1. กรณีบริษัทฯ ยื่นแบบแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.09) ระบุว่า
เลิกประกอบกิจการ และคืนใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20) ณ สำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ที่ได้
จดทะเบียนไว้แล้ว บริษัทฯ ยังคงสามารถออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้เช่าที่ได้ทำสัญญาเช่าแบบลิสซิ่งก่อนการ
เลิกประกอบกิจการ ได้หรือไม่
2. หากบริษัทฯ ไม่สามารถออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้เช่า บริษัทฯ ยังคงมีหน้าที่เสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่และมีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้เช่าหรือไม่
3. กรณีบริษัทฯ ขายทรัพย์สินให้แก่ผู้เช่าเมื่อผู้เช่าได้ผ่อนชำระค่าเช่าครบถ้วนแล้วตาม
สัญญาเช่าแบบลิสซิ่ง บริษัทฯ ต้องดำเนินการอย่างไร
4. กรณีสัญญากำหนดว่า บริษัทฯ ต้องจ่ายคืนเงินมัดจำให้แก่ผู้เช่าเมื่อผู้เช่าได้ชำระค่าเช่า
ครบถ้วนแล้วบริษัทฯ ต้องดำเนินการอย่างไร
5. กรณีบริษัทฯ ให้บริการพิเศษแก่ผู้เช่า ได้แก่ ดำเนินการโอนทะเบียนรถยนต์หรือต่อ
ภาษีรถยนต์ บริษัทฯยังคงเรียกเก็บค่าบริการและภาษีมูลค่าเพิ่มได้อีกหรือไม่ และกรณีบริษัทฯ มีหน้าที่ต้อง
ดำเนินการต่อทะเบียนรถยนต์หรือต่อภาษีรถยนต์ให้แก่ผู้เช่า ตามที่ระบุในสัญญาก่อนการเลิก
ประกอบกิจการ บริษัทฯ ต้องออกใบรับเงินหรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. กรณีบริษัทฯ เลิกประกอบกิจการ บริษัทฯ ต้องแจ้งการเลิกกิจการตามแบบแจ้งการ
เปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.09) และคืนใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20) ณ
สำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ภายในสิบห้าวันนับจากวันเลิกกิจการ ตามมาตรา
85/15 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งบริษัทฯ ได้แจ้งเลิกบริษัทจำกัดต่อกระทรวงพาณิชย์และยื่นแบบ ภ.พ.09
ระบุว่าเลิกประกอบกิจการเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2543 แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัทฯ ยังไม่ได้
ยกเลิกสัญญาเช่าทรัพย์สินแบบลิสซิ่งกับผู้เช่าซึ่งยังคงเหลืออีกเป็นจำนวนมาก และบริษัทฯ ไม่ได้โอนขาย
บัญชีลูกหนี้ให้แก่บุคคลอื่น โดยเรียกเก็บค่าเช่าทรัพย์สินแบบลิสซิ่งต่อไปกรณีดังกล่าว ถือว่าบริษัทฯ ยังคง
ประกอบกิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ได้เลิก
ประกอบกิจการจริง ดังนั้น จึงไม่สามารถแจ้งเลิกประกอบกิจการตามมาตรา 85/15 แห่ง
ประมวลรัษฎากร
2. กรณีบริษัทฯ ยื่นแบบ ภ.พ.09 ระบุว่าเลิกประกอบกิจการ จึงไม่ถูกต้องถือเสมือนหนึ่ง
ว่าไม่มีการยื่นแบบ ภ.พ.09 เพื่อแจ้งเลิกประกอบกิจการ บริษัทฯ ยังคงต้องรับผิดในฐานะเป็น
ผู้ประกอบการจดทะเบียนต่อไปอีกจนกว่าจะมีการเลิกประกอบกิจการจริง กล่าวคือ ไม่มีการขายสินค้า
หรือให้บริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอีกต่อไป จึงจะสามารถยื่นแบบ ภ.พ.09 เพื่อแจ้งเลิก
ประกอบกิจการได้ ดังนั้น ในขณะนี้ บริษัทฯต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ มีหน้าที่
จัดทำใบกำกับภาษีเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ตามมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร
หรือยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) ตามมาตรา 83 แห่งประมวลรัษฎากร เป็นต้น
เลขตู้: 63/28958

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020