เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/172
วันที่: 1 มีนาคม 2543
เรื่อง: ภาระภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร กรณีรายได้จากการให้กู้ยืมเงิน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65, มาตรา 91/2(5), มาตรา 104
ข้อหารือ: นาย ก. ได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน กรณีเข้ารับตำแหน่ง
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และรัฐมนตรีต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โดย
แสดงว่ามีหนี้สินกับบริษัท ข. จำกัด เมื่อปี พ.ศ. 2540 เป็นหนี้เงินกู้จำนวน 100,000,000 บาท และ
มีผู้กล่าวหาร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าหนี้สินจำนวนดังกล่าว
เป็นเท็จ ซึ่งจากการตรวจสอบไม่ปรากฏหนี้จำนวนดังกล่าวในบัญชีงบดุลของบริษัทฯ
ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติของ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 291 และมาตรา 293 คณะกรรมการป้องกันและปราบปราม
การทุจริตแห่งชาติจึงขอทราบว่า หากบริษัทฯ ได้ให้ นาย ก. กู้ยืมเงินจริง แต่ไม่ได้ลงในบัญชีงบดุล
บริษัทฯ จะมีความผิดต่อกฎหมายใด อย่างไร และกรมสรรพากรจะมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการใน
เรื่องดังกล่าวอย่างไร
แนววินิจฉัย: หากข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัทฯ ได้ให้ผู้อื่นกู้ยืมเงิน และได้รับดอกเบี้ยจากการ
ให้กู้ยืมเงินดังกล่าว บริษัทฯ มีภาระภาษีอากรซึ่งกรมสรรพากรมีอำนาจหน้าที่ในการเรียกเก็บตาม
ประมวลรัษฎากร ดังนี้
1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล
ดอกเบี้ยที่บริษัทฯ ได้รับจากการให้ผู้อื่นกู้ยืมเงิน ถือเป็นรายได้เนื่องจากการ
ประกอบกิจการ บริษัทฯต้องนำดอกเบี้ยจากการให้ผู้อื่นกู้ยืมเงินมารวมกับรายได้อื่นเพื่อคำนวณกำไรสุทธิ
เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่มีรายได้
นั้น
2. ภาษีธุรกิจเฉพาะ
บริษัทฯ ให้ผู้อื่นกู้ยืมเงิน ถือเป็นการประกอบกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์อยู่ในบังคับ
ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2(5) แห่งประมวลรัษฎากร และรายรับจากดอกเบี้ยของ
บริษัทฯ คือฐานภาษีในการคำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/5(5) แห่งประมวลรัษฎากร
3. อากรแสตมป์
สัญญากู้ยืมเงินของบริษัทฯ ถือเป็นตราสารที่ระบุไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ จึงต้อง
ปิดแสตมป์ตามอัตราที่กำหนดไว้ในบัญชี ตามมาตรา 104 แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตราทุกจำนวนเงิน
2,000 บาท แห่งวงเงินให้กู้ยืม ต่อค่าอากรแสตมป์ 1 บาท แต่เมื่อคำนวณค่าอากรแล้วเกิน 10,000
บาท ให้เสีย 10,000 บาท
4. กรณีบริษัทฯ ไม่ได้ดำเนินการเพื่อการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ
กรมสรรพากรมีอำนาจตามประมวลรัษฎากรที่จะประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ
ตามข้อ 1 และข้อ 2 ดังกล่าวข้างต้น พร้อมเรียกเก็บเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม และกรณีบริษัทฯ มิได้
ปิดแสตมป์บริบูรณ์ในตราสาร กรมสรรพากรมีอำนาจตามประมวลรัษฎากรที่จะเรียกเก็บเงินอากรจนครบ
ตามข้อ 3 พร้อมเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรด้วย
เลขตู้: 63/28970

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020