เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/1863
วันที่: 10 มีนาคม 2543
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีบริษัทต่างประเทศเข้ามาให้คำแนะนำ และให้ความช่วยเหลือออกแบบและพัฒนาหลักสูตรการสอนในระดับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย
ข้อกฎหมาย: มาตรา 76 ทวิ, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ, มาตรา 83/6 (1)
ข้อหารือ: บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้จัดตั้งมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งเอเซีย แจ้งว่า บริษัทฯ
มีวัตถุประสงค์ที่จะให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้ เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนนานาชาติ ที่มีมาตรฐานการเรียน
การสอนเทียบเท่ามหาวิทยาลัยต่างประเทศ บริษัทฯ จึงได้ทำสัญญา Services Agreement เพื่อจ้าง
Imperial College of Science, Technology and Medicine มหาวิทยาลัยลอนดอน ซึ่งเป็น
นิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศอังกฤษ เพื่อให้คำแนะนำ ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่ในทางภาษีอากรใน
ประเทศอังกฤษ เพื่อให้คำแนะนำ และให้ความช่วยเหลือดังต่อไปนี้
1. ให้คำแนะนำและให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับการออกแบบ (design) โครงสร้าง
(structure) และการเตรียมหลักสูตร ตลอดจน Course materials ที่เกี่ยวข้อง
2. ให้คำแนะนำและให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับการคัดเลือกบุคลากร ตลอดจนให้
ความช่วยเหลือเกี่ยวกับโครงการพัฒนาบุคลากร
3. พิจารณาทบทวน (review) academic courses เพื่อให้ได้มาตรฐานเทียบเท่า
Imperial College
ทั้งนี้ Imperial College จะส่งบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ เข้ามาทำงานดังกล่าวใน
ประเทศไทย ประมาณ 4 คนต่อปี เป็นเวลาทั้งหมด 3 ปี
บริษัทฯ ได้หารือว่า กรณีตามข้อเท็จจริงข้างต้น Imperial College จะมีภาระ
ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทยหรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย: กรณีตามข้อเท็จจริงข้างต้น พิจารณาภาระภาษีของ Imperial College ได้ดังนี้
1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล หากการให้บริการให้คำแนะนำและให้ความช่วยเหลือในการ
จัดทำหลักสูตร Course materials และการคัดเลือกบุคลากร ตลอดจนพิจารณา academic
courses ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นการให้คำแนะนำและให้ความช่วยเหลือโดยทั่วไป ซึ่งไม่มีการ
ถ่ายทอดข้อสนเทศหรือประสบการณ์ซึ่ง Imperial College มีสิทธิหวงกันแต่อย่างใด เงินได้จากการ
ให้บริการตามสัญญาดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นกำไรจากธุรกิจ ดังนั้น เมื่อ Imperial College ส่ง
บุคลากรเข้ามาให้บริการดังกล่าวในประเทศไทยเป็นเวลา 3 ปี กรณีดังกล่าว จึงถือว่า Imperial
College ให้บริการโดยผ่านทางสถานประกอบการถาวรในประเทศไทยตามข้อ 5 วรรคหนึ่ง แห่ง
อนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับสหราชอาณาจักรอังกฤษเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน ฉะนั้น Imperial
College จึงมีหน้าที่ต้องนำค่าบริการตามสัญญาดังกล่าว มารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสีย
ภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทยในอัตราร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิ ตามมาตรา 76 ทวิ แห่ง
ประมวลรัษฎากร และข้อ 8 วรรคหนึ่ง แห่งอนุสัญญาดังกล่าว และเมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าบริการให้กับ
Imperial College บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 5 ของค่าบริการตาม
ข้อ 12 แห่งคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
เนื่องจากการให้บริการของ Imperial College ตามสัญญาดังกล่าว เข้าลักษณะเป็น
การให้บริการโดยผู้ประกอบการ ซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่ง
ประมวลรัษฎากร ดังนั้น หาก Imperial College มิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการชั่วคราว
เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าบริการตามสัญญาให้กับ Imperial College บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องนำส่ง
ภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ของค่าบริการตามมาตรา 83/6(1) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 63/29017

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020