เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/1911
วันที่: 10 มีนาคม 2543
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีเหตุอันสมควรตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ทวิ (4), มาตรา 70
ข้อหารือ: บริษัท ก. ประกันชีวิต จำกัด และบริษัท ข. ประกันภัย จำกัด (รวมเรียกว่า “บริษัทฯ)
ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตและธุรกิจประกันภัยจากกระทรวงพาณิชย์ซึ่งมีโครงสร้างผู้ถือหุ้น
ชุดเดียวกันประกอบไปด้วยบุคคลธรรมดา บริษัทที่จัดตั้งขึ้นในต่างประเทศและไม่ได้ประกอบกิจการใน
ประเทศไทย และบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย เดิมบริษัททั้งสองเป็นบริษัทเดียวกัน ต่อมาได้มี
การแก้ไขเพิ่มเติม พรบ. ประกันชีวิต พ.ศ. 2535 และ พรบ. ประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งมีผลให้
ต้องแบ่งแยกกิจการประกันภัยไปอยู่ภายใต้บริษัท ข. ประกันภัยจำกัด ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นใหม่เพื่อการนี้โดย
เฉพาะ แต่การแยกกิจการออกเป็นสองบริษัทต่างหากจากกันมีผลทำให้การจดทะเบียนบริษัททั้งสองใน
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีความซับซ้อนขึ้น บริษัทฯ จึงมีความประสงค์ที่จะทำการปรับปรุง
โครงสร้างเพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต่อไปโดยผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบริษัท
ทั้งสองจะทำการโอนหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัทฯ ทั้งหมดแลกกับหุ้นออกใหม่ในบริษัท ค. จำกัด ที่ผู้ถือหุ้นได้
ร่วมกันจัดตั้งขึ้นเพื่อถือหุ้นในบริษัทฯ โดยเฉพาะและอยู่ระหว่างการจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์
จำนวนหุ้นและราคาของหุ้นทั้งสิ้นที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับในบริษัท ค. จำกัด จะเท่ากับจำนวนหุ้นเดิมที่ผู้ถือหุ้นมี
อยู่ในบริษัททั้งสอง การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือหุ้นดังกล่าวก็เพื่อวัตถุประสงค์ในการนำบริษัท ค.
จำกัด เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแต่เพียงอย่างเดียว โดยผู้ถือหุ้นมิได้รับ
ประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ เข้าใจว่า
1. การที่ผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยนำหุ้นทั้งสิ้นในบริษัทฯ แลกกับหุ้นออก
ใหม่ของบริษัท ค. จำกัด ตามราคาต้นทุน (ราคาพาร์) ของหุ้นเดิมที่มีอยู่ก่อนการโอนโดยไม่ได้รับ
ประโยชน์อื่นใดอีก ถือได้ว่าเป็นกรณีที่มีเหตุอันสมควรแล้ว แม้ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามูลค่าทางบัญชีต่อหุ้นใน
บริษัทฯ จะสูงกว่าราคาพาร์ก็ตามทั้งนี้ ตามนัยแห่งมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร
2. กรณีที่ผู้ถือหุ้นดังกล่าวเป็นบุคคลธรรมดาหรือเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นในต่างประเทศและ
ไม่ได้ประกอบกิจการในประเทศไทย กรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติใดตามประมวลรัษฎากรที่กำหนดให้ผู้ถือหุ้น
ต้องโอนหุ้นในบริษัทฯ ตามมูลค่าทางบัญชีเพื่อการคำนวณภาษีเงินได้และสามารถโอนหุ้นดังกล่าวได้ใน
ราคาต้นทุน ดังนั้น บริษัท ค. จำกัด ในฐานะผู้รับโอนจึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายแต่อย่างใด
แนววินิจฉัย: 1. กรณีตามข้อ 1 การที่บริษัทฯ ทำการปรับปรุงโครงสร้างการถือหุ้น โดยให้ผู้ถือหุ้นนำหุ้น
ในบริษัทฯ แลกกับหุ้นออกใหม่ในบริษัท ค. จำกัด เพื่อวัตถุประสงค์ในการนำบริษัท ค.จำกัด เข้า
จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งหากสัดส่วนการถือหุ้นจำนวนหุ้นและ
ราคาของหุ้นในบริษัท ค. จำกัด ของผู้ถือหุ้นทุก ๆ รายจะมีจำนวนหุ้นและราคาของหุ้นเช่นเดียวกันกับ
สัดส่วนของผู้ถือหุ้นในบริษัทฯ ก่อนการโอนถือได้ว่าผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย นำหุ้น
ในบริษัทฯ แลกกับหุ้นออกใหม่ของบริษัท ค. จำกัด ตามราคาทุน (พาร์) เป็นกรณีที่มีเหตุอันสมควรตาม
มาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร ถึงแม้ว่าการโอนหุ้นดังกล่าวเป็นการโอนตามราคาต้นทุน
(พาร์) ซึ่งมีมูลค่าต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีต่อหุ้นในบริษัทฯ ก็ตาม
2. กรณีตามข้อ 2 เนื่องจากมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นบทบัญญัติที่ใช้
บังคับกับบริษัทที่ประกอบกิจการในประเทศไทยซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีจากกำไรสุทธิเท่านั้น ดังนั้น การที่
ผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและบริษัทต่างประเทศที่มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย โอนขายหุ้นใน
ราคาต่ำกว่าราคาตามมูลค่าทางบัญชีเจ้าพนักงานประเมินไม่มีอำนาจประเมินมูลค่าหุ้นตามมาตรา 65 ทวิ
(4) แห่งประมวลรัษฎากร และบริษัท ค. จำกัดในฐานะผู้รับโอนไม่ต้องหักภาษีและนำส่งตามมาตรา 70
แห่งประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด
เลขตู้: 63/29030

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020