เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/1932
วันที่: 13 มีนาคม 2543
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีรายได้จากการขนส่งระหว่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505, มาตรา 80/1(3), มาตรา 66 วรรคสอง, มาตรา 80
ข้อหารือ: บริษัทฯ ได้หารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีบริษัทฯ มีรายได้จาก
การขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ สรุปข้อเท็จจริงได้ ดังนี้
1. บริษัทฯ จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นในรัฐ Delaware ประเทศสหรัฐอเมริกาและได้รับ
ใบอนุญาตจาก Federal Aviation Administration ประเทศสหรัฐอเมริกาให้ทำการขนส่งสินค้า
ทางอากาศ ปัจจุบันบริษัทฯ ประกอบกิจการรับขนส่งพัสดุทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกาและในประเทศอื่น ๆ
2. บริษัทฯ ได้เข้ามาตั้งสาขาในประเทศไทยในการดำเนินการด้านการขนส่งสินค้า
ระหว่างประเทศ (Cargo) และดำเนินธุรกิจขนส่งพัสดุเร่งด่วนระหว่างประเทศ (International
Priority) โดยใช้เครื่องบินของบริษัทฯ เอง ในแต่ละสัปดาห์ บริษัทฯ ได้จัดให้มีเที่ยวบินเพื่อ
การขนส่งพัสดุและพัสดุเร่งด่วน จำนวน 5 เที่ยวบินสำหรับขาเข้า และ 5 เที่ยวบินสำหรับขาออก
3. ในการประกอบกิจการในประเทศไทย สาขาในประเทศไทยของบริษัทฯ จะมีรายได้
จากการขนส่งพัสดุทั้งขาเข้าและขาออกตามสัญญารับขนที่สาขาในประเทศไทยทำกับลูกค้า
4. เนื่องจากสาขาในประเทศไทย ให้บริการขนส่งพัสดุแบบเร่งด่วน ซึ่งจะต้องดำเนินการ
ด้านพิธีการศุลกากรสำหรับพัสดุที่นำเข้าหรือส่งออกแทนลูกค้าด้วย และโดยที่สาขาในประเทศไทยไม่
สามารถขออนุญาตดำเนินการด้านพิธีการศุลกากรจากกรมศุลกากรได้ เนื่องจากมิใช่บริษัทไทย ดังนั้น
สาขาในประเทศไทยจึงได้ว่าจ้างบริษัท Express (Thailand) จำกัด (บริษัท ETL) ซึ่งตั้งขึ้นตาม
กฎหมายไทย และได้รับอนุญาตให้ดำเนินการด้านพิธีการศุลกากร เพื่อให้บริการดำเนินการผ่านพิธีการ
ศุลกากร ตลอดจนขนส่งพัสดุในช่วงของการขนส่งภายในประเทศไทยให้กับลูกค้า
5. ในการดำเนินการด้านพิธีการศุลกากรดังกล่าว สาขาในประเทศไทยจะออกเงินสำรอง
จ่ายล่วงหน้าเพื่อค่าภาษีนำเข้าหรือส่งออกแทนลูกค้า ซึ่งกรมศุลกากรจะออกใบเสร็จรับเงินสำหรับการ
ชำระภาษีดังกล่าวในนามของลูกค้า หากเป็นการดำเนินการพิธีการศุลกากรตามวิธีปกติ และในนามของ
ETL หากเป็นการดำเนินการพิธีการศุลกากรแบบเร่งด่วน (Express clearance) ค่าภาษีศุลกากร
ดังกล่าว สาขาในประเทศไทยจะเรียกเก็บคืนจากลูกค้าตามจำนวนที่จ่ายจริงพร้อมทั้งเรียกเก็บ
ค่าธรรมเนียมการดำเนินการด้านพิธีการศุลกากรอีกจำนวนหนึ่ง
6. สาขาในประเทศไทยได้หารือว่า กรณีที่สาขาในประเทศไทย เรียกเก็บเงินดังต่อไปนี้
จากลูกค้า เนื่องจากการรับขนพัสดุระหว่างประเทศตามข้อเท็จจริงดังกล่าวสาขาในประเทศไทยจะมี
ภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ อย่างไร
(ก) ค่าขนส่งพัสดุระหว่างประเทศ
(ข) ค่าภาษีศุลกากรที่สำรองจ่ายไป และเรียกเก็บคืนตามจำนวนที่จ่ายจริง
(ค) ค่าธรรมเนียมการดำเนินการด้านพิธีการศุลกากร
แนววินิจฉัย: กรณีที่สาขาในประเทศไทยของบริษัทฯ ให้บริการรับขนพัสดุทางอากาศระหว่างประเทศ
โดยใช้เครื่องบินของบริษัทฯ เอง ตามข้อเท็จจริงข้างต้นมีภาระภาษีได้ ดังนี้
1. ในส่วนของค่าบริการรับขนพัสดุระหว่างประเทศ
(ก) ภาษีเงินได้นิติบุคคล
เนื่องจากค่าบริการรับขนพัสดุระหว่างประเทศตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เข้า
ลักษณะเป็นเงินได้จากการดำเนินการเดินอากาศยานในการจราจรระหว่างประเทศ ดังนั้น หากบริษัทฯ
มีถิ่นที่อยู่ในทางภาษีอากรในประเทศสหรัฐอเมริกา และไม่ถูกจำกัดสิทธิประโยชน์ในการใช้อนุสัญญาตาม
ข้อ 18 แห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน
ค่าบริการรับขนดังกล่าว จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทยตามข้อ 8 วรรคหนึ่ง (ก)
แห่งอนุสัญญาดังกล่าวและมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505
(ข) ภาษีมูลค่าเพิ่ม
การให้บริการรับขนพัสดุระหว่างประเทศของสาขาในประเทศไทย เข้าลักษณะ
เป็นการให้บริการขนส่งระหว่างประเทศโดยอากาศยานที่กระทำโดยผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคล ซึ่งได้
รับสิทธิในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 (3) แห่งประมวลรัษฎากร
2. ในส่วนของค่าภาษีศุลกากร
เนื่องจากค่าภาษีศุลกากรจากการนำเข้าหรือส่งออกพัสดุเป็นภาระของลูกค้า ดังนั้น
กรณีที่สาขาในประเทศไทยออกค่าภาษีศุลกากรไปก่อน แล้วเรียกเก็บค่าภาษีศุลกากรจากลูกค้าคืนตาม
จำนวนที่จ่ายจริง จึงไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้หรือมูลค่าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม
แต่อย่างใด
3. ในส่วนของค่าธรรมเนียมการดำเนินการผ่านพิธีการศุลกากร
(ก) ภาษีเงินได้นิติบุคคล
ค่าธรรมเนียมการดำเนินการผ่านพิธีการศุลกากรตามข้อเท็จจริงข้างต้น ไม่เข้า
ลักษณะเป็นเงินได้จากกิจการที่มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการขนส่ง (activities closly
connected with the direct operation of aircraft) ดังนั้น เงินได้ดังกล่าว จึงไม่ใช่ส่วน
หนึ่งของเงินได้จากการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หากแต่ถือเป็นกำไรจากธุรกิจ ฉะนั้น เมื่อ
สาขาในประเทศไทยของบริษัทฯ เป็นผู้ให้บริการกับลูกค้า จึงถือเป็นการที่บริษัทฯ ให้บริการผ่าน
สถานประกอบการถาวรในประเทศไทยตามข้อ 5 วรรคสอง แห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับ
ประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน และสาขาในประเทศไทยจึงต้องนำค่าธรรมเนียม
ดังกล่าว มารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทยตามมาตรา 66 วรรคสอง
แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 7 วรรคหนึ่ง แห่งอนุสัญญาดังกล่าว
(ข) ภาษีมูลค่าเพิ่ม
การให้บริการดำเนินการผ่านพิธีการศุลกากรตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เข้าลักษณะ
เป็นการให้บริการโดยผู้ประกอบการตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร และอยู่ในข่ายต้องเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 63/29034

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020