เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/1934
วันที่: 13 มีนาคม 2543
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการรับจ้างทำของ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ
ข้อหารือ: 1. สรรพากรพื้นที่ ได้ออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีอากร ราย บริษัท ศ. จำกัด สำหรับ
รอบระยะเวลาบัญชี พ.ศ. 2534 - 2535 จากการตรวจสอบพบว่า บริษัทฯ ก่อสร้างโกดังเก็บสินค้า
เมื่อปี พ.ศ. 2534 โดยว่าจ้างทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาเป็นผู้ทำการก่อสร้าง และเนื่องจากบริษัทฯ
ไม่มีความชำนาญประกอบกับเพื่อความสะดวกรวดเร็ว บริษัทฯ จึงทำหนังสือมอบอำนาจให้ผู้รับจ้าง
ก่อสร้างเป็นตัวแทนในการสั่งซื้อวัสดุก่อสร้าง ซึ่งผู้ขายสินค้าจะออกใบเสร็จรับเงินโดยระบุชื่อบริษัทฯ
เป็นผู้จ่ายเงิน บริษัทฯ จะจ่ายเงินให้ผู้รับจ้างเป็นค่าแรงงานและค่าวัสดุก่อสร้างแยกออกจากกัน และหัก
ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้เฉพาะค่าแรงงานเท่านั้น
2. สรรพากรพื้นที่ เห็นว่า พฤติการณ์ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการจ้างทำของที่ผู้รับจ้างต้อง
จัดหาสัมภาระด้วยตนเอง บริษัทฯ จึงมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ของฐาน
เงินได้ที่เป็นค่าแรงงานและค่าวัสดุก่อสร้างรวมกัน จึงหารือว่า การที่บริษัทฯ ทำสัญญาจ้างแรงงาน 1
ฉบับ และทำหนังสือแต่งตั้งตัวแทนเพื่อจัดซื้อวัสดุอีก 1 ฉบับ กับบุคคลหรือนิติบุคคลเดียวกัน ถือเป็น
การจ้างทำของหรือไม่ และจะต้องหักภาษีเงินได้ณ ที่จ่าย จากยอดค่าแรงงานรวมกับค่าวัสดุก่อสร้าง
ถูกต้องหรือไม่
3. สำนักงานสรรพากรภาคเห็นว่า ภาระในการจัดหาสัมภาระตามสัญญาจ้างทำของจะตก
อยู่กับผู้ว่าจ้างหรือผู้รับจ้างก็ได้ ขึ้นอยู่กับข้อตกลงตามสัญญา ซึ่งสัญญาดังกล่าวมีการระบุชัดเจนให้ผู้ว่าจ้าง
เป็นผู้จัดหาสัมภาระการที่ผู้รับจ้างจัดซื้อวัสดุก่อสร้างจากผู้ขายสินค้าจึงเป็นการกระทำในฐานะตัวแทนของ
ผู้ว่าจ้าง ดังนั้น เมื่อบริษัทฯจ่ายเงินให้ผู้รับจ้างโดยแยกค่าแรงงานและค่าวัสดุก่อสร้างออกจากกัน จึง
ไม่อาจถือได้ว่าเป็นเงินที่จ่ายเป็นค่าจ้างทำของทั้งหมด บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
เฉพาะค่าแรงงานเท่านั้น จึงหารือว่าความเห็นดังกล่าวถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย: สัญญาจ้างก่อสร้างตามข้อเท็จจริงระบุให้ผู้ว่าจ้างเป็นผู้จัดหาสัมภาระ โดยทำสัญญาอีกฉบับ
หนึ่งมอบอำนาจให้ผู้รับจ้างเป็นตัวแทนในการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้าง ซึ่งสัญญาตัวแทน
ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาสัมภาระ เนื่องจากผู้ว่าจ้างไม่มีความชำนาญเพียงพอ
และเพื่อความสะดวกรวดเร็ว โดยมุ่งถึงผลสำเร็จของงานคืออาคารก่อสร้างเป็นสำคัญ ดังนั้น จึงถือว่า
สัญญาตัวแทนเป็นส่วนประกอบของสัญญารับจ้าง เข้าลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของ ตามมาตรา 587 แห่ง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยถือเป็นสัญญาจ้างทำของทั้งจำนวน จะแยกยอดค่าวัสดุก่อสร้างออก
ไม่ได้ ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินค่าแรงงานและค่าวัสดุก่อสร้างให้ผู้รับจ้าง บริษัทฯ จะต้องหัก
ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ของเงินได้ทั้งหมด ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.
4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หัก
ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
เลขตู้: 63/29036

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020