เลขที่หนังสือ | : กค 0811/1963 |
วันที่ | : 14 มีนาคม 2543 |
เรื่อง | : อากรแสตมป์ กรณีการจดทะเบียนโอนสิทธิการรับจำนอง |
ข้อกฎหมาย | : ลักษณะตราสาร 28(ข) ใบรับ แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ |
ข้อหารือ | : กรณีบริษัทเงินทุนได้ทำสัญญาซื้อสิทธิเรียกร้องในหนี้สินเชื่อที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน ของสถาบันการเงินที่ถูกคณะกรรมการปฎิ*รูประบบสถาบันการเงินสั่งปิดกิจการจากผู้ชนะการประมูล เพื่อ นำมาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยสิทธิเรียกร้องในหนี้สินเชื่อดังกล่าวเป็นหนี้เกี่ยวกับเงินกู้หรือ ตั๋วสัญญาใช้เงิน เมื่อบริษัทเงินทุนได้ทำสัญญารับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวแล้วมีผลให้หลักประกัน เช่น ค้ำประกัน จำนอง จำนำ ซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์แห่งสิทธิเรียกร้องนั้นโอนมายังบริษัทเงินทุนด้วยตามมาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จากการซื้อขายสิทธิเรียกร้องข้างต้น บริษัทเงินทุนฯ จึงมี ความประสงค์ที่จะจดทะเบียนโอนสิทธิการรับจำนองในหนี้ที่มีจำนองเป็นประกันบางรายมายังบริษัทเงินทุนฯ เพื่อความสะดวกในการปฎิบั*ติงานในกรณีที่ลูกหนี้มาขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้และ/หรือขอปลดหรือ ไถ่ถอนจำนอง บริษัทฯ มีความเห็นว่า การทำสัญญาซื้อหรือขายสิทธิเรียกร้องในหนี้สินเชื่อจากผู้ประมูลได้ สิทธิเรียกร้องในหนี้สินเชื่อดังกล่าวเป็นบุคคลสิทธิจึงไม่อาจเป็นอสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิเกี่ยวกับ อสังหาริมทรัพย์ ดังนั้น ใบรับที่ออกโดยเหตุตามสัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงไม่เข้าข่ายตามลักษณะตราสาร 28(ข) ใบรับ แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์และสำหรับการจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ สิทธิเรียกร้องนั้นได้ ถูกโอนมายังบริษัทเงินทุนผู้ซื้อโดยผลของกฎหมายตามมาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น แม้จะมีการจดทะเบียนโอนสิทธิการรับจำนองมายังบริษัทเงินทุนภายหลัง แต่การโอนสิทธิการรับ จำนองนั้นก็ไม่มีค่าตอบแทนและไม่ได้มีการออกใบรับ การโอนสิทธิการรับจำนองดังกล่าวจึงไม่ต้องชำระ อากรแสตมป์ตามลักษณะตราสาร 28(ข) ใบรับ แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์สมาคมฯ จึงหารือว่า ความเข้าใจดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ |
แนววินิจฉัย | : นิติกรรมการโอนสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้สินเชื่อเกี่ยวกับหนี้เงินกู้หรือตั๋วสัญญาใช้เงิน เป็น นิติกรรมที่เป็นเหตุให้ออกใบรับ แต่นิติกรรมดังกล่าวไม่ใช่นิติกรรมที่ต้องจดทะเบียนตามกฎหมาย ใบรับ ดังกล่าวจึงไม่ต้องปิดแสตมป์ตามลักษณะตราสาร 28 (ข) ใบรับ แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์และ สิทธิจำนองอันเป็นหลักประกันของหนี้ที่ได้มีการโอนให้แก่ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวย่อมตกไปเป็นของ ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องตามมาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น การจดทะเบียนเพื่อ เปลี่ยนแปลงชื่อผู้รับจำนองทางทะเบียนจากผู้โอนสิทธิการรับจำนองไปเป็นผู้รับโอนสิทธิการรับจำนอง จึง ไม่อยู่ในข่ายต้องเสียอากรแสตมป์แต่อย่างใด |
เลขตู้ | : 63/29041 |