เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ.2673
วันที่: 3 เมษายน 2543
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์นั่ง
ข้อกฎหมาย: มาตรา 82/3, มาตรา 82/5 (6)
ข้อหารือ: สำนักงานสรรพากรภาคได้หารือกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีภาษีซื้อที่เกี่ยวข้อง
กับรถยนต์นั่ง ซึ่งมีข้อเท็จจริงดังนี้
1. บริษัท มาตรา จำกัด เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มดำเนินธุรกิจในด้านพัฒนา
ผลิตภัณฑ์ ซึ่งครอบคลุมถึงการให้คำปรึกษาแนะนำในการประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมยางและการ
ให้บริการทางวิศวกรรมและเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับการผลิตภัณฑ์ยาง
2. การทดสอบสมรรถนะของยางประกอบด้วยการวิเคราะห์โครงสร้างภายใน และ
วิเคราะห์รูปลักษณ์ภายนอก ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้
(1) การวิเคราะห์โครงสร้างภายใน
(ก) ตัดยางรถยนต์ตามลักษณะที่ต้องการ
(ข) ลอกหน้ายาง
(ค) บันทึกจำนวนชั้นผ้าใบและจำนวนชั้นใยเหล็ก
(2) การวิเคราะห์รูปลักษณ์ภายนอก
(ก) วัดความลึกดอกยาง
(ข) วัดขนาดของยางรถยนต์
(ค) พิจารณาลักษณะการบวมของแก้มยางรถยนต์
(ง) ลักษณะดอกยาง
กรรมวิธีในการทดสอบและวิเคราะห์ตาม (1) และ (2) ดังกล่าว อาจรวมถึง
การวิ่งทดสอบด้วย ซึ่งบริษัทฯ นำยางที่ซื้อมาเพื่อการทดสอบไปประกอบเข้ากับรถยนต์นั่ง และนำไปวิ่งใน
สนามทดสอบหรือบนท้องถนนเพื่อทดสอบการยึดเกาะถนน การสึกหรอ การรับน้ำหนัก และการหยุดรถ
เป็นต้น
3. บริษัทฯ หารือว่า ภาษีซื้อดังต่อไปนี้ ถือเป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5 แห่ง
ประมวลรัษฎากร หรือไม่
(1) ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อรถยนต์นั่ง หรือเช่ารถยนต์นั่ง เพื่อนำไปใช้วิ่งทดสอบ
ยางในธุรกิจของบริษัทเท่านั้น โดยไม่ได้ใช้ในธุรกิจอื่น ๆ ของบริษัท
(2) ภาษีซื้อที่เกิดจากค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้รถยนต์นั่งเพื่อการทดสอบ เช่น
ค่าน้ำมัน ค่าซ่อมบำรุง ค่าประกันภัย ค่าจ้างเหมาขับรถทดสอบ เป็นต้น
(3) ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อยางรถยนต์เพื่อใช้ในการทดสอบ
4. สำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่มีความเห็นว่า ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อรถยนต์นั่ง หรือเช่า
รถยนต์นั่ง รวมทั้งภาษีซื้อที่เกิดจากค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้รถยนต์นั่งเพื่อการทดสอบ ได้แก่ ค่า
น้ำมัน ค่าซ่อมบำรุง ค่าประกันภัย ค่าจ้างเหมาขับรถทดสอบ และค่าซื้อยาง เป็นภาษีซื้อต้องห้ามตาม
มาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร
5. สำนักงานสรรพากรภาคมีความเห็นดังนี้
(1) ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อรถยนต์นั่ง หรือเช่ารถยนต์นั่ง เพื่อใช้ในการวิ่งทดสอบ
สมรรถนะของยางซึ่งเป็นการนำไปใช้เพื่อการประกอบกิจการของตนเองโดยตรง หากรถยนต์นั่งดังกล่าว
เป็นรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ภาษีซื้อที่
เกิดจากการซื้อและเช่ารถยนต์นั่งดังกล่าวถือเป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5(6) แห่ง
ประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(1) วรรคหนึ่ง ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับ
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42) ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2535
(2) ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือการรับบริการที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์นั่งเพื่อ
การทดสอบ เช่น ค่าน้ำมัน ค่าซ่อมบำรุง ค่าประกันภัย ค่าจ้างเหมาขับรถยนต์นั่งที่ใช้ทดสอบ ถือเป็น
ภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5(6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(1) ของ
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)ฯ ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2535
(3) ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อยางรถยนต์เพื่อใช้ในการทดสอบสมรรถนะของยางและ
เพื่อการวิเคราะห์โครงสร้างภายในภายนอกของยาง ซึ่งเป็นการนำไปใช้เพื่อการประกอบกิจการของ
ตนเองโดยตรง ภาษีซื้อดังกล่าวจึงไม่ต้องห้าม ตามมาตรา 82/5(3) และ มาตรา 82/5(6) แห่ง
ประมวลรัษฎากร และข้อ 4 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 17)
ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2534 และข้อ 2(1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับ
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)ฯ ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2535
แนววินิจฉัย: กรณีบริษัทฯ ซื้อรถยนต์นั่งหรือเช่ารถยนต์นั่ง เพื่อนำไปใช้ในการวิ่งทดสอบสมรรถนะของ
ยางรถยนต์ เข้าลักษณะเป็นการนำรถยนต์นั่งไปใช้ในการประกอบกิจการของตนเอง โดยไม่ได้นำไปขาย
หรือให้เช่า ดังนั้น
1. ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อรถยนต์หรือเช่ารถยนต์นั่ง เพื่อใช้ในการวิ่งทดสอบสมรรถนะ
ของยาง ถือเป็นภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 แห่ง
ประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ตามมาตรา 82/5(6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(1) ของ
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42) เรื่อง การกำหนดภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไป
หักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/5(6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ.
2535
2. ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อยางรถยนต์เพื่อใช้ในการทดสอบ โดยนำไปประกอบกับรถยนต์
นั่ง และนำไปวิ่งในสนามทดสอบหรือบนท้องถนนเพื่อทดสอบการยึดเกาะถนน การสึกหรอ การรับน้ำหนัก
และการหยุดรถ รวมทั้งภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อน้ำมัน หรือจากการซ่อมบำรุง และการประกันภัยรถยนต์
นั่งดังกล่าว ถือเป็นภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือรับบริการที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์นั่ง บริษัทฯ จึงไม่มี
สิทธินำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ตามมาตรา
82/5(6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับ
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)ฯ ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2535
เลขตู้: 63/29098

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020