เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/2751
วันที่: 5 เมษายน 2543
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างถนนพุทธมณฑล
ข้อกฎหมาย: มาตรา 50 (5), มาตรา 49 ทวิ
ข้อหารือ: กรุงเทพมหานครได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่
อำเภอยานนาวา อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร อำเภอบางขุนเทียน อำเภอธนบุรี อำเภอ
บางกอกน้อย อำเภอตลิ่งชัน อำเภอภาษีเจริญ กิ่งอำเภอหนองแขม จังหวัดธนบุรี อำเภอบางกรวย
อำเภอบางใหญ่ อำเภอบางบัวทอง อำเภอเมืองนนทบุรี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี อำเภอเมือง
ปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร อำเภอสามพราน และอำเภอนครชัยศรี
จังหวัดนครปฐม พ.ศ. 2497 ต่อมามีประกาศของคณะปฏิวัติ และพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินใน
บริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อการก่อสร้างทางสายถนนพุทธมณฑล 1,2,3,4,5,6,7,8 และถนนสายอักษะ
รวม 4 ฉบับ ใช้บังคับสืบต่อกัน เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2497 หมดอายุบังคับใช้วันที่ 5
พฤศจิกายน 2512 กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ มี
หน่วยงานรับผิดชอบหลายหน่วยงานเป็นลำดับ คือ กรมโยธาธิการ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ
ต่อมากรุงเทพมหานครได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและทรัพย์สินอย่างอื่น
ในเขตทางตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดสร้างพุทธมณฑลฝ่ายฆราวาส ครั้งที่ 1/2527
เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2527 ซึ่งมี ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ (องคมนตรีและรัฐบุรุษ) อดีต
นายกรัฐมนตรีสมัยนั้นเป็นประธานกรรมการ รับมอบเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2527 จนถึงปัจจุบัน รับมอบ
เฉพาะโครงการถนนพุทธมณฑลสาย 1,2,3,4 และสายอักษะ ขณะที่รับมอบพระราชกฤษฎีกาหมดอายุ
บังคับใช้แล้ว กรุงเทพมหานครจึงได้จัดซื้อที่ดินโดยวิธีปรองดอง ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนตุลาคม
2500 โดยนำขั้นตอนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาบังคับใช้
โดยอนุโลม
หลังจากกรุงเทพมหานครได้รับมอบเอกสารหลักฐานการจัดซื้อที่ดินจากกรมการศาสนา ได้
ตรวจพบว่ามีการจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินงวดที่ 1 จำนวน 75% ของเงินค่าทดแทนไปแล้วจำนวนหลายราย
โดยการทำสัญญาจะซื้อจะขายกับเจ้าของที่ดินไว้โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกฤษฎีกาและประกาศของ
คณะปฏิวัติที่ใช้บังคับ ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่กรุงเทพมหานครจะรับมอบงานต่อจากกรมการศาสนา เมื่อ
ประมาณปี พ.ศ.2508-2509 ในราคาไร่ละ 1,500 บาท (หนึ่งพันห้าร้อยบาทถ้วน) และ 5,000 บาท
(ห้าพันบาทถ้วน) เมื่อจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินงวดแรกจำนวน 75% ไปแล้ว เจ้าของจะมอบโฉนดที่ดินให้
หน่วยราชการที่รับผิดชอบในขณะนั้นยึดถือไว้ ส่วนเงินค่าทดแทนที่ดิน 25% ยังไม่มีการจ่าย จนกว่าจะได้มี
การรังวัดแบ่งแยกและจดทะเบียนให้เป็นที่สาธารณประโยชน์เสียก่อนปรากฏว่า มีที่ดินจำนวนหลายแปลง
ค้างดำเนินการมิได้ทำการรังวัดแบ่งเวนคืน และยังค้างจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เหลืออีก 25%
ต่อมากรุงเทพมหานครได้เร่งรัดการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อแก้ไข
ปัญหาการจราจรและได้พิจารณาเห็นว่า เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนเพื่อการก่อสร้างทางสายต่าง ๆ ที่ได้
รับมอบมาเสียโอกาสในการที่จะนำที่ดินที่ถูกเขตทางไปประกอบการงานต่าง ๆ ระยะเวลาล่วงเลยมา
นาน ดังนั้น เพื่อเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนผู้ถูกเวนคืน กรุงเทพมหานครจึง
กำหนดและจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินที่เหลืองวดสอง 25%ในราคาปัจจุบัน และสามารถทำความตกลงกับ
เจ้าของที่ดินในเขตทางถนนพุทธมณฑลได้เป็นจำนวนหลายราย แต่เมื่อได้ยื่นคำขอจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดิน
เป็นทางหลวงเทศบาลโดยมีค่าตอบแทน สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครได้เรียกเก็บภาษีเงินได้เต็ม
จำนวน 100% จากฐานราคาประเมินของกรมที่ดินทั้งที่เงินค่าทดแทนที่ดินที่กรุงเทพมหานครกำหนดจ่ายให้
เพียงส่วนที่เหลือ 25% ในราคาปัจจุบัน ซึ่งจะต่ำกว่าราคาประเมินของกรมที่ดิน ทำให้ไม่ได้รับ
ความร่วมมือจากเจ้าของที่ดิน เพราะตกลงกันเรื่องภาษีไม่ได้ สำหรับค่าธรรมเนียมการโอนได้รับการ
ยกเว้นตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 68(2)
ดังนั้น เพื่อที่จะหาข้อยุติเรื่องการเรียกเก็บภาษีเงินได้ กรุงเทพมหานครจึงหารือ ดังนี้
1. การจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินในเขตทางถนนพุทธมณฑล ซึ่งเดิมได้จ่าย 75% ในปี พ.ศ.
2508-2509 ในราคาไร่ละ 1,500 บาท (หนึ่งพันห้าร้อยบาทถ้วน) และ 5,000 บาท (ห้าพันบาทถ้วน)
ด้วยการทำสัญญาจะซื้อจะขายซึ่งเป็นช่วงระหว่างบังคับใช้พระราชกฤษฎีกา ปัจจุบันกรุงเทพมหานคร
จ่ายค่าทดแทนส่วนที่เหลือ 25% ในราคาปัจจุบันตามที่คณะกรรมการปรองดองกำหนด แต่เป็นช่วงเวลาที่
พระราชกฤษฎีกาหมดอายุบังคับใช้จะถือว่าเป็นกรณีดำเนินการที่ต่อเนื่องกัน และจะได้รับการ
ยกเว้นรัษฎากร ตามข้อ 2(29) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความใน
ประมวลรัษฎากร หรือไม่
2. กรณีตามข้อ 1. หากมิได้รับการยกเว้น กรมสรรพากรจะเรียกเก็บภาษีเงินได้จากฐาน
ราคาใด (ฐานราคาประเมินของกรมที่ดิน 100% หรือจากฐานราคาที่กรุงเทพมหานครจ่าย 25% ใน
ราคาปัจจุบัน)
3. เมื่อกรุงเทพมหานครจ่ายค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เหลือเพียง 25% ในราคาปัจจุบัน ซึ่งเป็น
ราคาต่ำกว่าราคาประเมินของกรมที่ดิน กรมสรรพากรมีข้อแนะนำใดที่จะเยียวยาและบรรเทาความ
เดือดร้อนของประชาชนเกี่ยวกับกรณีการเรียกเก็บภาษีเงินได้
แนววินิจฉัย: กรณีกรุงเทพมหานครทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับเจ้าของที่ดินซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาโดย
กรุงเทพมหานครได้จ่ายเงินค่าซื้อที่ดินแบ่งออกเป็น 2 งวด งวดแรกจ่ายเงินไปแล้วร้อยละ 75 ของ
ราคาตามสัญญา และงวดที่ 2 จ่ายอีกร้อยละ 25 ของราคาปัจจุบันการจ่ายเงินค่าตอบแทนจากการซื้อ
ที่ดินดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นการจ่ายค่าทดแทนจากการเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืน เงินได้
ดังกล่าวจึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามข้อ 2(29) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ
ดังนั้น การจ่ายเงินได้จากการซื้ออสังหาริมทรัพย์จะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(5)
แห่งประมวลรัษฎากร ขณะที่จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม โดยให้ถือราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บ
ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
ทั้งนี้ ตามมาตรา 49 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 63/29119

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020