เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ.2882
วันที่: 11 เมษายน 2543
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีขอคืนภาษีจากการส่งออกน้ำตาลทราย
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1 (8)
ข้อหารือ: สำนักงานสรรพากรภาคแจ้งว่าสรรพากรจังหวัดได้หารือปัญหาภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีขอคืนภาษี
จากการส่งออกน้ำตาลทราย สรุปข้อเท็จจริงได้ ดังนี้
1. บริษัทประกอบกิจการจำหน่ายน้ำตาลทรายขาว น้ำตาลทรายดิบซึ่งซื้อมาจากบริษัท ก.
จำกัด บริษัท ข.จำกัด และ บริษัท ค. จำกัด โดยบริษัทฯ จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน
ภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2541 และเริ่มประกอบกิจการเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2542 ยื่น
แบบ ภ.พ.30 เดือนภาษีมกราคม 2542 ขอคืนภาษีซื้อเป็นเงินสดจำนวน 10,543,704.55 บาท และ
ยื่นแบบเพิ่มเติมแจ้งยอดขายอัตราภาษีร้อยละ 0 จำนวน 79,335,420.21 บาท บริษัทฯ แจ้งว่าเป็น
ยอดส่งออกน้ำตาลทรายไปต่างประเทศ
2. จากหลักฐานการซื้อขายน้ำตาลทรายดิบและหลักฐานการส่งออกพบว่า น้ำตาลทรายดิบ
จำนวน 11,000 ตัน มูลค่า 79,335,420.21 บาท ส่งออกโดยบริษัท ง. จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนทำการ
ส่งออกของกลุ่มบริษัท ข. จำกัดโดยระบุว่าเป็นน้ำตาลของบริษัท ก. จำกัด
3. บริษัทชี้แจงว่า บริษัทฯ เป็นผู้ส่งออกน้ำตาลทรายดิบดังกล่าว โดยส่งไปในโควต้าของ
บริษัท ก. จำกัดเพราะบริษัทฯ มิใช่โรงงานน้ำตาล ตามประกาศของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย
จึงไม่มีสิทธิที่จะส่งออกน้ำตาลทรายเองได้ บริษัทฯ จึงต้องใช้โควต้าส่งออกของ บริษัท น้ำตาลเกษตร
ไทย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท ข. จำกัด
4. เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2542 บริษัท ก. จำกัด บริษัท ข. จำกัด และบริษัทได้ทำบันทึก
ข้อตกลงร่วมกันระบุว่า น้ำตาลที่ส่งออกครั้งนี้จำนวน 12,000 ตัน เป็นน้ำตาลของ บริษัท ก. จำกัด
จำนวน 1,000 ตัน และบริษัท จำนวน 11,000 ตัน โดยบริษัทจะโอนน้ำตาลใช้คืนให้กับ บริษัท ก.
จำกัด ภายหลัง ต่อมาบริษัทโอนน้ำตาลคืนให้บริษัท ก. จำกัด แล้วเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2542 ตาม
หลักฐานบัญชีคุมสินค้าของบริษัท
จังหวัดฯ มีความเห็นว่า น้ำตาลที่ส่งออกไม่ใช่น้ำตาลของบริษัท แต่อย่างใด โดยการที่
บริษัท โอนน้ำตาลทรายดิบให้ บริษัท ก. จำกัด ถือว่าเป็นการขายภายในประเทศตามมาตรา 77/1(8)
แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากบริษัท ไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่จะเข้าเงื่อนไขตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.
41/2537 เรื่อง การส่งออกน้ำตาลทรายที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา
ร้อยละ 0 ลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537 ประกอบกับข้อ 3 ของ คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.
33/2536 เรื่อง การส่งออกสินค้า ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา
ร้อยละ 0 ลงวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2536
สำนักงานสรรพากรภาคพิจารณาแล้วเห็นด้วยกับความเห็นของจังหวัดฯ เนื่องจากเป็นการ
ขอคืนภาษีจำนวน 10,543,704.55 บาท และตามหลักฐานของทางราชการ บริษัท ก. จำกัด เป็น
ผู้ส่งออกการที่บริษัทอ้างว่า บริษัทเป็นผู้ส่งออกและอ้างเอกสารอื่นประกอบนั้น เห็นว่าเป็นเอกสารที่
เอกชนจัดทำขึ้น เห็นควรให้บริษัทนำสืบพิสูจน์ถึงเจตนาที่แท้จริงของการทำเอกสารดังกล่าวในชั้นศาล
ต่อไป
แนววินิจฉัย: กรณีตามข้อเท็จจริงข้างต้นปรากฏว่า การส่งออกน้ำตาลของบริษัทมิได้เป็นการส่งออกตาม
ประกาศของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายหรือระเบียบใดและการซื้อน้ำตาลมีหลักฐาน PURCHASE
CONFIRMATION ว่า บริษัท A ซื้อน้ำตาลจาก บริษัท ก. และมีเพียงถ้อยคำชี้แจงของบริษัทว่า บริษัท
ตกลงขายน้ำตาลให้กับ บริษัท A แต่ไม่ปรากฏหลักฐานใด ๆ และไม่มีการเปิด L/C และบริษัทมีหลักฐาน
ขอคืนภาษีซื้อของน้ำตาลทรายดิบจำนวน 11,000 ตัน ถูกต้อง ดังนั้น บริษัทจึงมิใช่ผู้ส่งออกน้ำตาลทราย
ดิบและไม่ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 แต่ถือว่า กรณีที่บริษัทโอนน้ำตาลทรายดิบให้
บริษัท ก. จำกัด จำนวน 11,000 ตัน เป็นการขายในประเทศตามมาตรา 77/1(8) แห่ง
ประมวลรัษฎากร
ส่วนการส่งออกน้ำตาลทรายของโรงงานน้ำตาลทราย (บริษัท ก. จำกัด) โดยผ่านตัวแทน
ในการส่งออก (บริษัท ง.) หากได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และได้มีการปฏิบัติ
ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข เกี่ยวกับการอนุญาตให้ส่งออกน้ำตาลทรายตามกฎหมาย ว่าด้วยอ้อย
และน้ำตาลทรายโดยครบถ้วน โรงงานน้ำตาลนั้นให้ถือเป็นผู้ส่งออก และได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มใน
อัตราร้อยละ 0 และตัวแทนในการส่งออกถือเป็นผู้ให้บริการและมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจาก
ค่าบริการที่ได้รับจากโรงงานน้ำตาลในอัตราร้อยละ 7.0 ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.41/2537
เรื่อง การส่งออกน้ำตาลทรายที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0
ลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537
เลขตู้: 63/29151

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020