เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/3477
วันที่: 2 พฤษภาคม 2543
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีให้บริการที่จอดยานยนต์
ข้อกฎหมาย: มาตรา 81(1)(ถ)
ข้อหารือ: สำนักงานสรรพากรภาค แจ้งว่า กรุงเทพมหานครได้มีหนังสือลงวันที่ 30 ธันวาคม 2542
ขอให้ทบทวนหนังสือกรมสรรพากร ที่ กค 0811/พ.9286 ลงวันที่ 7 กันยายน 2542 กรณีการให้บริการ
ที่จอดยานยนต์ ของกรุงเทพมหานคร เข้าลักษณะเป็นการบริการ ตามมาตรา 77/1 (10) แห่ง
ประมวลรัษฎากร อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร และเข้า
ลักษณะเป็นการให้บริการของราชการส่วนท้องถิ่นที่เป็นการหารายได้ หรือผลประโยชน์ ตามมาตรา 81
(1)(ถ) แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มโดยกรุงเทพมหานคร มีความเห็นว่า
การให้บริการดังกล่าว เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร
พ.ศ. 2528 มาตรา 89(4) และ (9) ในการรักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของ
บ้านเมือง และการจัดให้มีที่จอดรถ และพระราชบัญญัติจัดระเบียบการจอดยานยนต์ในเขตเทศบาลและ
สุขาภิบาล พ.ศ. 2503 กำหนดให้ท้องถิ่น จัดให้มีที่จอดยานยนต์ในทางหลวงหรือในที่สาธารณะ ซึ่ง
ค่าธรรมเนียมการให้บริการที่จอดยานยนต์ที่จัดเก็บได้ ต้องนำส่งเข้าเป็นงบประมาณของกรุงเทพมหานคร
ในอันที่จะนำมาพัฒนากรุงเทพมหานคร และให้บริการสาธารณะอื่น ๆ จึงน่าจะได้รับ
การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (1) (ถ) แห่งประมวลรัษฎากร
แนววินิจฉัย: กรณี กรุงเทพมหานครให้บริการที่จอดยานยนต์และเรียกเก็บค่าธรรมเนียม การ
ให้บริการที่จอดยานยนต์ แม้ต้องนำส่งเข้าเป็นงบประมาณของกรุงเทพมหานครในอันที่จะนำมาพัฒนา
กรุงเทพมหานคร และให้บริการสาธารณะอื่น ๆ แต่มีลักษณะเป็นการให้บริการของกรุงเทพมหานครที่เป็น
การพาณิชย์ของราชการส่วนท้องถิ่นหรือเป็นการหารายได้หรือผลประโยชน์ตามมาตรา 81 (1) (ถ)
แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่าให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับ
การให้บริการของราชการส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ ไม่รวมถึงบริการที่เป็นการพาณิชย์ของราชการส่วนท้องถิ่น
หรือเป็นการหารายได้หรือผลประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นกิจการสาธารณูปโภคหรือไม่ก็ตาม ดังนั้นการ
ให้บริการดังกล่าวของกรุงเทพมหานครจึงไม่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
เลขตู้: 63/29235

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020