เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/3539
วันที่: 3 พฤษภาคม 2543
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับการให้บริการเช่าอสังหาริมทรัพย์
ข้อกฎหมาย: มาตรา 81(1)(ต), คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.90/2542 ฯ
ข้อหารือ: บริษัทฯ ได้รับสิทธิในการทำประโยชน์บนพื้นที่สถานีรถไฟฟ้า BTS จากบริษัท ระบบ
ขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) การประกอบกิจการของบริษัทฯ แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
ก. ให้บุคคลเช่าพื้นที่ว่างเปล่าบนสถานีรถไฟฟ้า โดยผู้เช่าเป็นผู้รับผิดชอบในการก่อสร้าง
ร้านค้าเพื่อประกอบกิจการของผู้เช่าเอง ลักษณะร้านค้าจะมีทั้งร้านที่มีประตูเปิดปิดโดยผู้เช่าเป็น
ผู้ครอบครองกุญแจประตู และร้านที่ไม่มีประตูเปิดปิด เวลาเปิดร้านผู้เช่าจะเปิดและปิดในเวลาใดก็ได้
แต่ต้องอยู่ในระหว่างเวลา 6.00 - 24.00 น. หลังจากเวลาดังกล่าว ผู้เช่าจะต้องออกจากร้านค้า
เพื่อออกจากสถานีรถไฟฟ้า ตามข้อกำหนดของ BTS โดยบริษัทฯ คิดค่าเช่ากับผู้เช่าต่อตารางเมตรต่อ
เดือน และเรียกเก็บค่าเช่าเป็นรายเดือน นอกจากค่าเช่าแล้ว บริษัทฯ ยังจะเรียกเก็บค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า
จากผู้เช่าตามอัตราต่อหน่วยการใช้ที่กำหนด
ข. ให้เช่าป้ายโฆษณาในพื้นที่สถานีรถไฟฟ้า BTS ภายในรถไฟฟ้า BTS และตามราวบันได
ขึ้นลงของสถานีรถไฟฟ้า BTS โดยป้ายโฆษณาจะมีลักษณะเป็นกรอบสี่เหลี่ยมมีแผ่นพลาสติกใสเปิดด้านหน้า
ภายในกรอบจะมีไฟส่องสว่าง วิธีการโฆษณาก็จะนำแผ่นโฆษณาใส่เข้าไปในกรอบสี่เหลี่ยมดังกล่าว โดย
ลูกค้าจะเป็นผู้จัดหาแผ่นโฆษณาเองและนำมาให้บริษัทฯ เพื่อปิดโฆษณา ส่วนกรอบที่ใช้สำหรับปิดแผ่น
โฆษณาและไฟส่องสว่าง บริษัทฯ เป็นผู้จัดทำและออกค่าใช้จ่าย โดยบริษัทฯ คิดค่าเช่ากับลูกค้าต่อหนึ่ง
กรอบโฆษณาต่อเดือน
บริษัทฯ จึงขอทราบว่า
1. เงินค่าเช่าพื้นที่ร้านค้าเป็นรายได้ประเภทการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ได้รับ
ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และในส่วนของค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องเรียกเก็บ
ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือไม่
2. ค่าเช่าป้ายโฆษณา ถือเป็นรายได้ประเภทการให้บริการสื่อโฆษณา ต้องเรียกเก็บ
ภาษีมูลค่าเพิ่ม และเมื่อผู้จ่ายเงินเป็นค่าโฆษณาดังกล่าวให้กับบริษัทฯ ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ
ที่จ่ายตามประมวลรัษฎากร หรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. ตามข้อ 1. กรณีบริษัทฯ ให้ผู้เช่าใช้พื้นที่ว่างเปล่าบนสถานีรถไฟ BTS เพื่อสร้าง
ร้านค้าเอง สำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการ โดยตกลงจ่ายค่าเช่าต่อตารางเมตรเป็นรายเดือน
เข้าลักษณะเป็นการให้บริการเช่าอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81(1)(ต)
แห่งประมวลรัษฎากร
กรณีบริษัทฯ ได้เรียกเก็บเงินค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า จากผู้เช่าตามอัตราต่อหน่วยการใช้ตามที่
กำหนด เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่ง
ประมวลรัษฎากร โดยความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระราคาสินค้า หรือได้มี
การออกใบกำกับภาษีก่อนได้รับชำระราคาสินค้า แล้วแต่กรณี โดยให้ความรับผิดเกิดขึ้นตามส่วนของ
การกระทำนั้น ทั้งนี้ ตามมาตรา 78/3 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 1 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่
189 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
บางกรณี
2. ตามข้อ 2. การเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายสำหรับการ
ให้บริการโฆษณาตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เป็นไปตามข้อ 17 (4) (5) และข้อ 20 แห่ง
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 90/2542 ฯ
เลขตู้: 63/29265

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020