เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/3556
วันที่: 4 พฤษภาคม 2543
เรื่อง: ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีเงินมัดจำ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 91/2(6)
ข้อหารือ: บริษัท ป. จำกัด ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างกับบริษัท มาตรา จำกัด โดยมี
รายละเอียดว่า
1. ผู้จะขายตกลงจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 01 ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัด
ปทุมธานีพร้อมสิ่งปลูกสร้าง เป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 120,000,000 บาท (หนึ่งร้อยยี่สิบล้านบาทถ้วน)
2. ในวันทำสัญญา ผู้จะซื้อตกลงจ่ายตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับหนึ่ง จำนวน 15,000,000 บาท
(สิบห้าล้านบาทถ้วน) เพื่อเป็นการวางเงินมัดจำในการซื้อขาย โดยระบุในสัญญาว่าไม่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่ง
ของค่าที่ดิน โดยผู้จะขายจะต้องคืนให้แก่ผู้จะซื้อ เมื่อผู้จะขายได้รับชำระค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในวันจด
โอนกรรมสิทธิ์ ณ สำนักงานที่ดิน จำนวนเงิน 120,000,000 บาท (หนึ่งร้อยยี่สิบล้านบาทถ้วน) แล้ว
ผู้จะขายจะคืนตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับดังกล่าวทันที
3. ปรากฏว่าผู้จะซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าที่ดินตามข้อตกลง เนื่องจากประสบปัญหาในทาง
เศรษฐกิจและยินยอมให้ผู้จะขายริบเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับดังกล่าวได้ และถือว่าสัญญาฉบับดังกล่าว
เป็นอันยกเลิกทันที
บริษัทฯ หารือว่าเงินมัดจำดังกล่าวนั้นจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่
สำนักงานสรรพากรภาค เห็นว่าตามข้อเท็จจริงปรากฏว่าสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวได้
กระทำในขณะการใช้บังคับของพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วย
การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 ก่อนมีการยกเลิกโดย
พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร
(ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 ที่ให้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2542 ซึ่งตามพระราชกฤษฎีกาฯ
(ฉบับที่ 244) นั้น มิได้มีบทบัญญัติไว้ชัดเจน ดังเช่น มาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) ซึ่ง
บัญญัติว่า ให้การขายอสังหาริมทรัพย์ เฉพาะที่ต้องจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมดังต่อไปนี้ เป็น
การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2(6) แห่ง
ประมวลรัษฎากร... โดยอีกนัยหนึ่งนั้นตามมาตรา 91/1(4) แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติว่า “ขาย”
หมายความรวมถึงสัญญาจะขาย ขายฝาก แลกเปลี่ยน ให้ ให้เช่าซื้อ หรือจำหน่ายจ่ายโอน ไม่ว่าจะมี
ประโยชน์ตอบแทนหรือไม่
กรณีจึงยังไม่ชัดเจนว่า เงินมัดจำตามสัญญาจะซื้อขายจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่
และประกอบกับกรณีดังกล่าวกรมสรรพากรยังไม่เคยมีคำวินิจฉัยไว้จึงขอให้กรมสรรพากรพิจารณา
แนววินิจฉัย: สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโฉนดเลขที่ 01 ระหว่างบริษัท ป. จำกัด
ผู้จะขายกับบริษัทมาตราจำกัด ผู้จะซื้อ ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2541 ถือเป็นการ “ขาย” ตามคำนิยามใน
มาตรา 91/1(4) แห่งประมวลรัษฎากร และโดยที่ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโฉนดเลขที่ 01 ที่ขายเป็น
อสังหาริมทรัพย์ของบริษัท ป. จำกัด การขายดังกล่าวจึงเข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมี
ไว้ในการประกอบกิจการ ตามมาตรา 3(5) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 อยู่ใน
บังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร เงินมัดจำจึงถือเป็นรายรับ
ที่ต้องนำมาเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 63/29268

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020