เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ.3656
วันที่: 9 พฤษภาคม 2543
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจ่ายค่าจ้างล่วงหน้า
ข้อกฎหมาย: มาตรา 79, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.73/2541 ฯ
ข้อหารือ: สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ แจ้งว่า ได้ว่าจ้างบริษัท ก. จำกัด ปรับปรุงระบบ
สาธารณูปโภคในวงเงิน 40,600,000 บาท โดยสถาบันฯ ได้จ่ายค่าจ้างล่วงหน้าแก่ผู้รับจ้าง
4,060,000 บาท ซึ่งเท่ากับร้อยละ 10 ของค่าจ้าง เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2542 ซึ่งขณะนั้นการเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มจะต้องเสียในอัตราร้อยละ 10.0 และเมื่อถึงกำหนดชำระค่าจ้างแต่ละงวดสถาบันก็จะ
หักเงินไว้ในจำนวนร้อยละ 10 ของค่าจ้างที่จ่ายแต่ละงวดเพื่อชดเชยเงินล่วงหน้าที่ได้จ่ายไปแล้ว ซึ่งใน
งวดงานที่ต้องจ่ายค่าจ้างนั้นเป็นช่วงระยะเวลาที่มีการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเหลือร้อยละ 7.0 จึงขอ
ทราบว่าสถาบันฯ จะหักชำระคืนเงินรับล่วงหน้าได้จำนวนเท่าใด และเงินที่จ่ายเป็นค่าจ้างล่วงหน้าจะ
ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
แนววินิจฉัย: กรณีผู้รับจ้างได้รับเงินล่วงหน้าและยอมให้ผู้ว่าจ้างหักเงินออกจากเงินค่างวดงานที่ผู้รับจ้าง
จะได้รับในแต่ละงวด ผู้รับจ้างต้องนำเงินจ่ายล่วงหน้ามารวมคำนวณเป็นมูลค่าฐานภาษีตามมาตรา 79
แห่งประมวลรัษฎากรโดยถือว่าความรับผิดในการเสียภาษีจากการให้บริการเกิดขึ้นขณะได้รับชำระเงิน
ดังกล่าว ทั้งนี้ ตามข้อ 1(1)(ค) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.73/2541 ฯ ลงวันที่ 30 มิถุนายน
พ.ศ. 2541
ดังนั้น กรณีตามข้อเท็จจริงสถาบันฯ ได้จ่ายเงินล่วงหน้าให้แก่ผู้รับจ้างจำนวน 4,060,000
บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว เมื่อปรากฏว่าขณะที่จ่ายเงินล่วงหน้าดังกล่าว การเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มกำหนดให้เสียในอัตราร้อยละ 10.0 การเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากเงินล่วงหน้าดังกล่าวจึง
ต้องเสียในอัตราร้อยละ 10.0 โดยสามารถคำนวณแยกได้เป็นค่างานจำนวน 3,690,909.09 บาท
เป็นภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 369,090.91 บาท และเมื่อผู้รับจ้างยอมให้นำเงินรับล่วงหน้ามาหักออกจาก
เงินค่างวดงานที่ผู้รับจ้างจะได้รับในแต่ละงวด สถาบันฯ ย่อมมีสิทธินำมาหักออกจากค่างาน (ไม่รวม
ภาษีมูลค่าเพิ่ม) แต่ละงวดเมื่อรวมทุกงวดแล้วจะหักได้เป็นจำนวน 3,690,909.09 บาท ตามจำนวนค่า
งานที่จ่ายล่วงหน้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
เลขตู้: 63/29292

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020