เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ.4331
วันที่: 30 พฤษภาคม 2543
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการตามสัญญาจ้างเหมา
ข้อกฎหมาย: มาตรา 81(1)(ฐ)
ข้อหารือ: สำนักงานสรรพากรภาคฯ หารือกรณีการให้บริการตามสัญญาจ้างเหมา ราย นาย ส. สรุป
ข้อเท็จจริงได้ว่า นาย ส. ได้ทำสัญญารับจ้างเหมาทำการขุดแสล็ก บริเวณเจาะเตาร่อน/แยก แสล็ก ออก
จากโลหะ เผาโลหะบริเวณเจาะเตา กับบริษัท ท. จำกัด โดยนาย ส. ต้องจัดหาคนงาน และ
รับผิดชอบในการจ่ายเงินค่าจ้างคนงาน ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่นใดในฐานะนายจ้างตามกฎหมายแรงงาน
ซึ่งนาย ส. ได้หารือว่า สัญญาจ้างเหมาดังกล่าวเป็นการให้บริการตามสัญญาจ้างแรงงาน ที่ได้รับ
การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81(1)(ฐ) แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่
สำนักงานสรรพากรภาคฯ เห็นว่า สัญญาจ้างเหมางานระหว่างบริษัท ท. จำกัด (ผู้ว่าจ้าง)
กับนาย ส. (ผู้รับจ้าง) มีวัตถุประสงค์ให้ผู้รับจ้างจัดหาคนงานเพื่อปฏิบัติงานตามสัญญา ซึ่งผู้ว่าจ้างจะ
ให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จของงานที่ทำ คือผู้รับจ้างจักต้องจัดหาคนงานให้แก่ผู้ว่าจ้างเพื่อปฏิบัติงานตามที่
ผู้ว่าจ้างกำหนด สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาจ้างทำของตามมาตรา 587 แห่ง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมีลักษณะเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1(10) แห่ง
ประมวลรัษฎากร อันอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม มิใช่เป็นการให้บริการตามสัญญาจ้างแรงงาน อัน
จะได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81(1)(ฐ) แห่งประมวลรัษฎากร
แนววินิจฉัย: ตามสัญญาจ้างเหมาระหว่างบริษัท ท. จำกัด (ผู้ว่าจ้าง) กับนาย ส. (ผู้รับจ้าง) มี
สาระสำคัญคือ ผู้รับจ้างต้องจัดหาคนงานเพื่อปฏิบัติงานให้ผู้ว่าจ้างตามสัญญา โดยผู้ว่าจ้างตกลงจ่าย
สินจ้างตามจำนวนคนงานในอัตราต่อคนต่อวัน บริษัทฯ จะจ่ายสินจ้างให้แก่ผู้รับจ้างทุกวันที่ 16 และวันที่
1 ของเดือนถัดไป โดยผู้รับจ้างเป็นผู้รับเงินสินจ้างแล้วนำมาแบ่งจ่ายให้คนงานดังกล่าวอีกทอดหนึ่งตาม
อัตราค่าแรงต่อวันที่ตกลงกันระหว่างผู้รับจ้างกับคนงานเงินส่วนที่เหลือถือเป็นเงินได้ของผู้รับจ้าง ใน
การปฏิบัติงานผู้รับจ้างจะเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของคนงาน และมีหน้าที่ต้องปฏิบัติต่อคนงานตามที่
กฎหมายกำหนด สัญญาดังกล่าวจึงเข้าลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของตามมาตรา 587 แห่ง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กล่าวคือ เป็นสัญญาที่ผู้รับจ้างตกลงจัดหาคนงานเพื่อปฏิบัติงานตามสัญญา
ให้ผู้ว่าจ้าง โดยผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จของงานที่ทำ และสัญญาจ้างเหมาดังกล่าวถือ
เป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร อันอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
มิใช่เป็นการให้บริการตามสัญญาจ้างแรงงานอันจะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ฐ)
แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด
เลขตู้: 63/29367

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020