เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ.4347
วันที่: 30 พฤษภาคม 2543
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีขายรองเท้าให้แก่ลูกค้าในต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/2, มาตรา 80/1, มาตรา 82/3, มาตรา 83/6(2)
ข้อหารือ: สำนักงานสรรพากรภาคฯ แจ้งว่า บริษัท อ. จำกัด ประกอบกิจการส่งออกรองเท้า ได้
หารือเกี่ยวกับภาระภาษี โดยมีข้อเท็จจริง ดังนี้
1. บริษัทฯ ได้จัดทำตัวอย่างรองเท้าและส่งไปให้ลูกค้าในต่างประเทศ เมื่อลูกค้าพอใจก็
จะส่งใบสั่งจ้างให้บริษัทฯ โดยมีเงื่อนไขการชำระเงิน คือ โอนเงินสดให้เมื่อได้รับเอกสารการส่งออก
(T/T) โดยสมมติว่าราคารองเท้าคู่ละ 100 บาท
2. กรณีบริษัทฯ ได้รับใบสั่งจ้างแล้ว จะว่าจ้างโรงงานในประเทศเวียดนามเป็นผู้ผลิตโดย
บริษัทฯ จะเป็นผู้จัดส่งวัตถุดิบให้โรงงานฯ และบางครั้งโรงงานฯ จะเป็นผู้สั่งซื้อวัตถุดิบหรือบางครั้ง
โรงงานฯ ไม่ได้สั่งซื้อวัตถุดิบแต่บริษัทฯ จะเป็นผู้ส่งวัตถุดิบไปให้โรงงานฯ เอง บริษัทฯ ส่งออกวัตถุดิบ
รองเท้าไปยังโรงงานฯ จะถือว่าบริษัทฯเป็นผู้ส่งออกซึ่งจะต้องเสียภาษีในอัตราศูนย์ใช่หรือไม่ และ
ใบกำกับภาษีที่สั่งซื้อวัตถุดิบกับร้านค้าในประเทศไทยสามารถขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ใช่หรือไม่
3. เงื่อนไขในการชำระเงินกับโรงงานฯ คือ โอนเงินสดให้เมื่อได้รับเอกสารการส่งออก
โดยสมมติว่าราคารองเท้าที่ซื้อจากโรงงานฯ คู่ละ 70 บาท
4. หลังจากที่โรงงานฯ ผลิตรองเท้าเสร็จเรียบร้อยตามจำนวนที่ต้องการ โรงงานฯ จะ
จัดส่งรองเท้าออกไปให้ลูกค้า โดยผู้ส่งออกในใบตราส่งสินค้า (BIll OF LADING) จะเป็นชื่อของ
บริษัทฯ
5. ตามราคาที่สมมติจะเห็นว่าบริษัทฯ มีผลกำไรคู่ละ 30 บาท
6. บริษัทฯ ได้ยื่นเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามจำนวนเงิน 100 บาท ใน
เดือนที่ได้รับเงินจากลูกค้า
7. กรณีบริษัทฯ ได้จ่ายค่านายหน้าให้แก่บริษัทต่างประเทศเพื่อหาลูกค้าในต่างประเทศให้
แก่บริษัทฯ บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.36 หรือไม่
8. กรณีบริษัทฯ ได้ว่าจ้างโรงงานในประเทศเวียดนามผลิตรองเท้าแล้วให้โรงงานฯ ส่ง
สินค้าให้กับลูกค้าที่ต่างประเทศเลย บริษัทฯ จะต้องยืนแบบ ภ.พ.36 หรือไม่
สำหรับการชำระค่าสินค้าให้กับโรงงานฯ บริษัทฯ มีขั้นตอนในการดำเนินการ คือ เมื่อ
บริษัทฯ ได้รับแอล/ซีจากลูกค้าตามราคาขาย บริษัทฯ จะว่าจ้างให้โรงงานฯ เป็นผู้ผลิตพร้อมโอนแอล/ซี
บางส่วนไปให้กับโรงงานฯเป็นการชำระค่ารองเท้า เมื่อโรงงานฯ ส่งสินค้าให้กับลูกค้าในต่างประเทศ
แล้ว ก็จะขายตั๋วแอล/ซี ผ่านทางธนาคาร ส่วนบริษัทฯ ก็จะทำอินวอยซ์ตามราคาของแอล/ซี ซึ่งได้รับ
จากลูกค้าและนำส่งธนาคาร เมื่อธนาคารได้รับเงินจากลูกค้าแล้วก็จะโอนเงินไปให้โรงงานฯ ตามราคา
ของอินวอยซ์ของโรงงานฯ ส่วนต่างก็จะเข้าบัญชีของบริษัทฯ รายได้ที่บริษัทฯ ได้รับถือเป็นค่านายหน้า
ตัวแทน และต้องออกใบกำกับภาษีให้กับลูกค้าในต่างประเทศหรือไม่
9. กรณีบริษัทฯ ส่งวัตถุดิบไปให้บริษัทเวียดนามโดยผ่านพิธีการศุลกากร และยื่นใบขน
ขาออกเพื่อให้ผลิตรองเท้า (ไม่ว่าโรงงานในประเทศเวียดนามจะซื้อวัตถุดิบจากบริษัทฯ หรือบริษัทฯ จะ
ส่งวัตถุดิบโดยบริษัทฯ มิได้ขายวัตถุดิบไปให้โรงงานในประเทศเวียดนามก็ตาม) ถือเป็นการส่งออกซึ่ง
บริษัทฯ ต้องถือเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิใช่หรือไม่
สำนักงานสรรพากรภาคฯ เห็นว่า กรณีตามข้อ 1-8 การที่บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการ
จดทะเบียนประเภทกิจการส่งออก ได้ขายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อที่อยู่นอกราชอาณาจักรโดยสั่งให้โรงงานใน
ประเทศเวียดนามผลิตรองเท้าตามที่บริษัทฯ ว่าจ้าง เมื่อผลิตเสร็จแล้วได้ให้โรงงานฯ เป็นผู้ส่งมอบ
สินค้าไปยังลูกค้าของบริษัทฯ ที่อยู่นอกราชอาณาจักรโดยตรงโดยไม่ได้นำสินค้านั้นเข้ามาในราชอาณาจักร
และไม่ได้ส่งสินค้านั้นออกนอกราชอาณาจักรแต่อย่างใดการขายสินค้าดังกล่าวถือเป็นการกระทำนอก
ราชอาณาจักรไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับ
ข้อ 1 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.89/2542 เรื่อง การขายสินค้านอกราชอาณาจักรโดย
ผู้ประกอบการจดทะเบียน ลงวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2542 ทั้งนี้ ต้องเป็นการขายสินค้า ตั้งแต่วันที่ 2
กันยายน 2542 เป็นต้นไป และโรงงานฯ ดังกล่าวมิใช่ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรซึ่งได้เข้ามา
ประกอบกิจการขายสินค้าในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว เมื่อบริษัทฯ ชำระค่าสินค้า บริษัทฯ ไม่มี
หน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามแบบ ภ.พ.36 ตามมาตรา 83/6(1) แห่งประมวลรัษฎากร
สำหรับกรณีบริษัทฯ ได้รับแอล/ซี จากลูกค้าและได้โอนแอล/ซี บางส่วนให้แก่โรงงานใน
ประเทศเวียดนามกรณีดังกล่าว ถือว่าบริษัทฯ ได้มีการตกลงซื้อขายกับลูกค้าต่างประเทศ การ
ประกอบกิจการของบริษัทฯ ตามข้อเท็จจริงมิใช่เป็นการให้บริการนายหน้าตัวแทน บริษัทฯ จะต้องนำ
รายรับจากการส่งออกสินค้าที่เรียกเก็บตามราคาของอินวอยซ์ทั้งจำนวนถือเป็นรายได้ในการคำนวณเพื่อ
เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล มิใช่นำเฉพาะส่วนต่างที่ได้รับดังกล่าวมาถือเป็นรายได้เท่านั้น
และกรณีบริษัทฯ ได้ขายวัตถุดิบในการผลิตรองเท้าดังกล่าวให้แก่โรงงานในประเทศ
เวียดนามหากปรากฏหลักฐานการส่งออกไปต่างประเทศและการรับชำระเงิน ถือว่าเป็นการส่งออก
บริษัทฯ จึงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 แห่งประมวลรัษฎากร และ
ภาษีซื้อจากการที่บริษัทฯ ขายวัตถุดิบดังกล่าว บริษัทฯ มีสิทธินำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณ
ภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนการที่บริษัทฯ ได้ให้บริษัทต่างประเทศ
ติดต่อเพื่อหาลูกค้าให้กับบริษัทฯ ถือเป็นการให้บริการนอกราชอาณาจักร ซึ่งมิใช่เป็นการให้บริการที่ทำใน
ต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร เมื่อบริษัทฯ ได้ชำระราคาค่าบริการดังกล่าว จึง
ไม่มีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร
กรณีตามข้อ 9 บริษัทฯ ต้องถือเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 แห่ง
ประมวลรัษฎากร
แนววินิจฉัย: 1. บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ประเภทกิจการส่งออกรองเท้า
โดยการส่งตัวอย่างสินค้ารองเท้าไปให้ลูกค้าในต่างประเทศเลือก เมื่อลูกค้าพอใจก็จะสั่งจ้าง เมื่อบริษัท
ฯ ได้รับใบสั่งจ้างจะจ้างโรงงานในประเทศเวียดนามเป็นผู้ผลิต หลังจากโรงงานในประเทศเวียดนาม
ผลิตเสร็จก็จะจัดส่งรองเท้าไปให้ลูกค้าในต่างประเทศ กรณีดังกล่าวเป็นกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียน
ขายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อที่อยู่นอกราชอาณาจักร โดยได้สั่งซื้อสินค้าที่ขายจากผู้ขายหรือผู้ผลิตนอกราชอาณาจักร
และให้ผู้ขายหรือผู้ผลิตนอกราชอาณาจักรส่งมอบสินค้าที่ขายนี้ให้แก่ผู้ซื้อที่อยู่นอกราชอาณาจักรโดยตรง
โดยไม่ได้นำสินค้านั้นเข้ามาในราชอาณาจักร และไม่ได้ส่งสินค้านั้นออกนอกราชอาณาจักรแต่อย่างใด
การขายสินค้าดังกล่าวถือเป็นการขายนอกราชอาณาจักร ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตาม
มาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับ ข้อ 1 แห่งคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.89/2542 เรื่อง
การขายสินค้านอกราชอาณาจักรโดยผู้ประกอบการจดทะเบียน ลงวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2542
2. ในการสั่งจ้างโรงงานในประเทศเวียดนามเป็นผู้ผลิต บริษัทฯ จะเป็นผู้จัดส่งวัตถุดิบให้
หรือบางครั้งโรงงานในประเทศเวียดนามจะสั่งซื้อโดยบริษัทฯ จะส่งออกวัตถุดิบไปให้ กรณีดังกล่าวบริษัท
ฯ ซึ่งเป็นผู้ส่งออกและกระทำพิธีการศุลกากรมีฐานะเป็นผู้ส่งออก ซึ่งได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา
ร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับภาษีซื้อวัตถุดิบที่บริษัทฯ จ่ายไปให้กับผู้ขายใน
ประเทศ ซึ่งเป็นภาษีซื้อเนื่องจากการประกอบกิจการส่งออก บริษัทฯ มีสิทธินำไปหักออกจากภาษีขายใน
การคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร
3. กรณีบริษัทฯ จ่ายค่านายหน้าให้แก่บริษัทในต่างประเทศ เพื่อหาลูกค้าในต่างประเทศให้
แก่บริษัทฯ เข้าลักษณะเป็นการจ่ายค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการนอกราช-อาณาจักร เนื่องจากการ
ให้บริการในต่างประเทศ บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 83/6(2) แห่ง
ประมวลรัษฎากร
4. บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล จากกำไรสุทธิซึ่งคำนวณจากรายได้จาก
การประกอบกิจการหรือเนื่องจากการประกอบกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีหักด้วยรายจ่ายตาม
เงื่อนไขที่ประมวลรัษฎากรกำหนด ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 63/29376

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020