เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811(กม.01)/921
วันที่: 5 มิถุนายน 2543
เรื่อง: ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการขายฝากที่ดิน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 91/2(6)
ข้อหารือ: 1. นาง ก. มารดาของนาย ข. ได้ซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์
(น.ส.3) มาเมื่อปี พ.ศ.2500 จำนวน 4 แปลง คือ
- น.ส.3 เลขที่ 100 ต.บางละมุง อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เนื้อที่ 4 ไร่ 42
ตารางวา
- น.ส.3 เลขที่ 101 ต.บางละมุง อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เนื้อที่ 1 ไร่ 16
ตารางวา
- น.ส.3 เลขที่ 102 ต.บางละมุง อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เนื้อที่ 3 ไร่ 90
ตารางวา
- น.ส.3 ต.บางละมุง อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เนื้อที่ 1 ไร่ ยินยอมให้นาย ค.
เป็นผู้มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินทั้ง 4 แปลง แทนนาง ก. เนื่องจากนาง ก. ไม่รู้
หนังสือ
2. นาย ค. ประกาศให้ที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 102 แก่นาย ข. และพวก ตามประกาศ
ให้ที่ดินลงวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2506
3. วันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2507 นาย ค. ผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 4 แปลงได้
จดทะเบียนยกกรรมสิทธิ์ที่ดินให้กับนาย ง. เป็นผู้รับโอนไป เพื่อให้นาย ง. ไปดำเนินการทำนิติกรรม
เวนคืนกับกรมทางหลวงเนื่องจากที่ดินดังกล่าวอยู่ในเขตเวนคืนของกรมทางหลวง เมื่อดำเนินการแล้ว
เสร็จนาย ง. จะต้องจดทะเบียนยกกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่นาย ข. และพวก ตามบันทึกลงวันที่ 4 มิถุนายน
พ.ศ.2507
4. วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2507 รังวัดที่ดินทั้ง 4 แปลงเพื่อออกโฉนดซึ่งรวมออก
เป็นโฉนดเลขที่ 1111 เนื้อที่ 9 ไร่ 1 งาน 40 ตารางวา
5. วันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2508 ได้แบ่งแยกโฉนดเลขที่ 1111 ออกเป็นโฉนดเลขที่
1112 เนื้อที่ 2 งาน 51 ตารางวา โดยที่ดินโฉนดเลขที่ 1112 ให้บริษัทน้ำมัน เช่าประกอบกิจการ
จำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง
6. เมื่อนาย ง. ทำนิติกรรมเวนคืนที่ดินกับกรมทางหลวงเสร็จสิ้นแล้ว นาย ง. ไม่
ยอมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่นาย ข. และพวกตามที่ได้ตกลงกันไว้ นาย ข. และพวกจึงฟ้องนาย
ง. ต่อศาลจังหวัด ในวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2535 ขอให้นาย ง. โอนที่ดินคืน หรือให้ชดใช้ราคา
ที่ดิน จำนวน 45,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของค่าเสียหาย
7. นาย ข. และนาย ง. ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาล และศาลมี
คำพิพากษาตามยอมโดยให้นาย ง. โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1111 และ 2178 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง
ให้นาย ข. และนาย ข. ตกลงมอบเงินจำนวน 5 ล้านบาทให้แก่นาย ง. ภายในกำหนด 2 ปี เป็นการ
ตอบแทน
8. วันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2538 นาย ง. โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1111
และ 1112 ให้แก่นาย ข. และในวันเดียวกันนาย ข. ได้ขายฝากที่ดินทั้ง 2 แปลงในราคา
16,000,000 บาท ระยะเวลาการไถ่ถอน 2 ปี
9. นาย ข. ได้ไถ่ถอนการขายฝากภายในกำหนดเวลา และได้ขายที่ดินดังกล่าวใน
ราคา 16,000,000 บาท ไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2540 พร้อมทั้งได้ยื่นแบบ ภ.ธ.40 ชำระ
ภาษีธุรกิจเฉพาะในวันเดียวกัน
10. ปี พ.ศ. 2541 นาย ข. ได้รับแจ้งจากสำนักงานสรรพากรจังหวัดว่า การขายฝาก
ที่ดินเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ และนาย ข. ได้ไป
ดำเนินการชำระภาษีและเงินเพิ่มแล้วเมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2541 ส่วนเบี้ยปรับได้ยื่นคำร้องของด
ไว้
11. นาย ข. เห็นว่า การขายฝากที่ดินดังกล่าวไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
เนื่องจากเป็นการขายที่ดินเกินกว่า 5 ปีนับแต่วันที่ได้ที่ดินนั้นมา และนาย ข. และพวกได้กรรมสิทธิ์ที่ดิน
ดังกล่าวมาตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2507 เนื่องจากในวันดังกล่าวนาย ค. ได้แสดงเจตนายกที่ดิน
ให้แก่ตนและพวกแล้ว จึงหารือว่าความเห็นดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ หากการขายฝากที่ดินดังกล่าวไม่ต้อง
เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ จะขอคืนภาษีได้อย่างไร
แนววินิจฉัย: วันที่ได้มาซึ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 1111 และ 1112 ตามข้อเท็จจริง คือ วันที่ 19
พฤษภาคม พ.ศ. 2538 ซึ่งเป็นวันที่นาย ข. ได้จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตาม
สัญญาประนีประนอมยอมความศาลจังหวัด มิใช่วันที่นาย ค. ได้ประกาศยกที่ดินให้แก่นาย ข. เพราะการ
ประกาศยกที่ดินให้นั้นยังไม่ถือว่าได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ตามข้อ 3(6)(ก) ของ
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.82/2542 ฯ ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2542 ดังนั้น เมื่อนาย ข.ได้
ขายฝากที่ดินทั้ง 2 แปลงภายใน 5 ปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งที่ดินดังกล่าว เข้าลักษณะเป็น
การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร ตามมาตรา 3(6) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่
244) พ.ศ. 2534 จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2(6) แห่ง
ประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 63/29423

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020