เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811(กม.02)/931
วันที่: 6 มิถุนายน 2543
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราในการบันทึกต้นทุน และเจ้าหนี้ค่าสินค้า
ข้อกฎหมาย: มาตรา 9, มาตรา 27, มาตรา 65 ทวิ (5)(8)(9)
ข้อหารือ: เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2542 บริษัทฯ สั่งซื้อสินค้าจากประเทศญี่ปุ่น 1 ล้านเยน เพื่อ
จำหน่ายภายในประเทศ เงื่อนไข CIF กำหนดชำระค่าสินค้าวันที่ 31 มีนาคม 2543 บริษัทฯ ปิดรอบปี
บัญชีเดือนกุมภาพันธ์ สินค้าออกจากท่าเรือประเทศญี่ปุ่น (B/L DATE) วันที่ 29 ธันวาคม 2542 สินค้า
ถึงท่าเรือกรุงเทพ (E/A DATE) วันที่ 9 มกราคม 2543 บริษัทฯ เป็นผู้ดำเนินการนำสินค้าผ่านพิธีการ
ศุลกากร จ่ายค่าอากรขาเข้าพร้อมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2543 บริษัทฯ หารือว่า
(1) บริษัทฯ จะบันทึกต้นทุนสินค้า และเจ้าหนี้ค่าสินค้า ด้วยอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันใด
โดยอ้างมาตรา 465 ทวิ (5) วรรคสอง หรือมาตรา 65 ทวิ (8) หรือมาตรา 9 แห่ง
ประมวลรัษฎากร
(2) อัตราแลกเปลี่ยนทางราชการตามมาตรา 65 ทวิ (8) แห่งประมวลรัษฎากร
หมายถึงอัตราแลกเปลี่ยนที่ประกาศโดยธนาคารแห่งประเทศไทยใช่หรือไม่
(3) คำว่า “ราคาตลาด” ตามมาตรา 65 ทวิ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร
หมายถึง SPOT RATE ของธนาคารพาณิชย์ ณ วันนั้นในช่วงเวลาใดก็ได้ใช่หรือไม่
(4) คำว่า “รับมาหรือจ่ายไป” ตามมาตรา 65 ทวิ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร
ให้ใช้สำหรับการรับหรือจ่ายในขณะนั้นเวลานั้น ใช่หรือไม่ ไม่ได้หมายความรวมถึงการตั้งหนี้ไว้เพื่อรอ
จ่าย
(5) คำว่า “วันที่รับมาหรือจ่ายไป” ตามมาตรา 65 ทวิ วรรคสอง แห่ง
ประมวลรัษฎากร ในกรณีซื้อสินค้าจากต่างประเทศให้ยึดวันใด E/A DATE, B/L DATE,วันจ่ายค่า
ภาษีอากร
(6) มาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ได้หมายความถึงการลงบัญชีต้นทุนค่าสินค้า
หรือการตั้งบัญชีเจ้าหนี้การค้าเพื่อรอจ่าย ใช่หรือไม่
(7) การรับรู้สิทธิความเป็นเจ้าของสินค้า จะรับรู้เมื่อใด และจะต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไข
การค้า FOB หรือ CIF ด้วยหรือไม่
(8) กรณีใช้อัตราแลกเปลี่ยนผิด แม้จะยืดหลักปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ก็จะต้องชำระค่า
เบี้ยปรับและเงินเพิ่ม สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่ผ่านมาแล้ว ด้วยหรือไม่
แนววินิจฉัย: (1) กรณีตาม 1.(1) และ (2) มาตรา 65 ทวิ (8) แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติ
ว่า “ถ้าราคาทุนของสินค้าเป็นเงินตราต่างประเทศ ให้คำนวณเป็นเงินตราไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนใน
ท้องตลาดของวันที่ได้สินค้านั้นมาเว้นแต่เงินตราต่างประเทศนั้นจะแลกได้ในอัตราทางราชการ ก็ให้
คำนวณเป็นเงินตราไทยตามอัตราทางราชการนั้น” ดังนั้นบริษัทฯ ต้องบันทึกต้นทุนสินค้าและเจ้าหนี้ค่า
สินค้าซึ่งเป็นเงินตราต่างประเทศ โดยคำนวณเป็นเงินตราไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนในท้องตลาดของวันที่
ได้สินค้านั้นมา สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนทางราชการได้เคยมีการกำหนดขึ้นมาในระยะหนึ่ง ปัจจุบันนี้ไม่มี
แล้ว
(2) กรณีตาม 1.(3) (4) และ (5) มาตรา 65 ทวิ (5) วรรคสอง แห่ง
ประมวลรัษฎากร บัญญัติว่า “เงินตรา ทรัพย์สิน หรือหนี้สินซึ่งมีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศที่รับ
มาหรือจ่ายไปในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณค่าหรือราคาเป็นเงินตราไทยตามราคาตลาดใน
วันที่รับมาหรือจ่ายไปนั้น”
“ราคาตลาด” หมายถึง ราคาที่กำหนดร่วมกันระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย
โดยทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนและธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร
“รับมาหรือจ่ายไป” หมายถึง เงินตรา ทรัพย์สินที่รับมาหรือหนี้สินที่จ่ายไป
ในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชี
“วันรับมาหรือจ่ายไป” หมายถึง วันที่รับเงินตรา ทรัพย์สินมาหรือวันที่จ่ายหนี้สิน
ไป โดยกรณีซื้อสินค้ามิได้บังคับตามบทบัญญัติมาตรานี้
(3) กรณีตาม 1.(6) มาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติว่า “เว้นแต่จะมี
บทบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นถ้าจำเป็นต้องคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยเพื่อปฏิบัติการตาม
ลักษณะนี้ ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งกระทรวงการคลังประกาศเป็นคราว ๆ” ดังนั้น กรณีที่มีบทบัญญัติ
ไว้เป็นอย่างอื่น ดังกรณีราคาทุนของสินค้าและเจ้าหนี้ค่าสินค้า ต้องบังคับตามมาตรา 65 ทวิ (8) แห่ง
ประมวลรัษฎากร
(4) กรณีตาม 1.(7) การรับรู้สิทธิความเป็นเจ้าของสินค้าจะรับรู้เมื่อมีการซื้อ
ขายสินค้านั้น ตามมาตรา 453 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(5) กรณีตาม 1.(8) หากมีการใช้อัตราแลกเปลี่ยนผิด ทำให้มีจำนวนเงินภาษีที่ต้อง
ชำระเพิ่มเติมในรอบระยะเวลาบัญชีใด บริษัทฯ ต้องชำระภาษีส่วนที่ยังชำระไม่ครบถ้วน และต้องเสีย
เงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร และหากบริษัทฯ ได้รับหมายเรียกตรวจสอบและถูก
ประเมินภาษี บริษัทฯ ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับตามมาตรา 22 หรือมาตรา 26 แห่งประมวลรัษฎากร ด้วย
เลขตู้: 63/29425

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020