เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/4707
วันที่: 9 มิถุนายน 2543
เรื่อง: ภาษีเงินได้ กรณียกเว้นภาษีให้บริษัทที่เสียภาษีในต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ทวิ, มาตรา 65 ตรี
ข้อหารือ: บริษัท A. จำกัด (มหาชน) แจ้งว่า บริษัทฯ มีการชำระภาษีในต่างประเทศตามที่กฎหมาย
ภายในของแต่ละประเทศกำหนด บริษัทฯ ต้องการขอเครดิตภาษีดังกล่าว จึงขอทราบว่า
1. การจัดเก็บภาษีเงินได้สำหรับธุรกิจสายการบินในต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะคำนวณเป็น
อัตราร้อยละจากยอดขาย ซึ่งทำให้การคำนวณหาจำนวนภาษีที่ต้องเสียตามกฎหมายไทยโดยวิธีที่กำหนดใน
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 65)ฯ ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539
ข้อ 3(1) ไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้ กรณีเช่นนี้ บริษัทฯ จะใช้อัตราส่วนของรายได้และภาษีที่เสียใน
ประเทศไทย เป็นอัตราส่วนในการคำนวณเปรียบเทียบหาจำนวนภาษีที่ต้องเสียในประเทศไทยส่วนที่
คำนวณจากเงินได้จากการประกอบกิจการในต่างประเทศได้หรือไม่ หรือมีวิธีการอื่นที่กรมสรรพากร
เห็นว่าเหมาะสมกว่า
2. บริษัทฯ มีเงินได้ประเภทดอกเบี้ยจากธนาคารที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายในประเทศไต้หวัน
ซึ่งบริษัทฯ ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ และตามกฎหมายภายในของประเทศไต้หวันต้องนำดอกเบี้ยดังกล่าว
มารวมคำนวณกับเงินได้จากการดำเนินธุรกิจเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี แต่บริษัทฯ ได้รับยกเว้น
ภาษีเงินได้จากการดำเนินธุรกิจการขนส่งทางอากาศตามข้อตกลงระหว่างประเทศ การยื่น
แบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้เมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีของบริษัทฯ จึงมีเฉพาะเงินได้จาก
ดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว จึงขอหารือว่า ในกรณีเช่นนี้บริษัทฯ สามารถคำนวณหาภาษีที่ต้องเสียใน
ประเทศไทยส่วนที่คำนวณจากเงินได้ที่ได้รับในต่างประเทศโดยใช้วิธีเดียวกันกับข้อ 3(2) ของ
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 65) ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 ได้
หรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. กรณีบริษัทฯ ได้เสียภาษีเงินได้จากการประกอบกิจการในต่างประเทศโดยคำนวณจาก
รายได้ก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ในการคำนวณหาจำนวนภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ได้รับยกเว้น มีวิธีคำนวณแยก
เป็นรายประเทศ โดยบริษัทฯ ต้องนำรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในต่างประเทศหัก
ด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขที่ระบุในมาตรา 65 ทวิ และ 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ได้เท่าใด ให้คูณ
ด้วยอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่บริษัทฯ ต้องเสียผลลัพธ์ที่ได้ถือเป็นจำนวนภาษีที่ต้องเสียในประเทศไทย
ส่วนที่คำนวณจากเงินได้จากการประกอบกิจการในต่างประเทศ ตามข้อ 3(1) แห่ง
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 65)ฯ ลงวันที่ 15 พฤศจิกายนพ.ศ.2539
ดังนั้น การที่บริษัทฯ จะใช้อัตราส่วนของรายได้และภาษีที่ต้องเสียในประเทศไทยเป็นอัตราส่วน
เปรียบเทียบหาจำนวนภาษีที่ต้องเสียในประเทศไทยส่วนที่คำนวณจากเงินได้จากการประกอบกิจการใน
ต่างประเทศ จึงกระทำมิได้
2. กรณีบริษัทฯ ได้รับดอกเบี้ยจากธนาคารที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายในประเทศไต้หวัน ซึ่งถูกหัก
ภาษี ณ ที่จ่ายไว้ และกฎหมายภายในของประเทศไต้หวันบังคับว่าบริษัทฯ ต้องนำดอกเบี้ยดังกล่าวไปรวม
คำนวณกับเงินได้จากการประกอบกิจการขนส่งทางอากาศ แต่เงินได้จากการประกอบกิจการขนส่ง
ทางอากาศ บริษัทฯ ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามข้อตกลงระหว่างประเทศ กรณีดังกล่าว ในการคำนวณ
หาจำนวนภาษีที่ต้องเสียในประเทศไทยส่วนที่คำนวณจากเงินได้จากการประกอบกิจการในต่างประเทศ
บริษัทฯ ต้องนำดอกเบี้ยที่ได้รับจากบริษัทในประเทศไต้หวัน หักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขที่ระบุในมาตรา
65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ได้เท่าใดให้คูณด้วยอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่บริษัทฯ
ต้องเสีย ผลลัพธ์ที่ได้ถือเป็นจำนวนภาษีที่ต้องเสียในประเทศไทยส่วนที่คำนวณจากเงินได้จากการ
ประกอบกิจการในต่างประเทศ ตามข้อ 3(1) แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้
(ฉบับที่ 65)ฯ ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539
เลขตู้: 63/29436

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020