เลขที่หนังสือ | : กค 0811/พ.4711 |
วันที่ | : 9 มิถุนายน 2543 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีใบกำกับภาษี |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 82/5, มาตรา 86/4, มาตรา 105 |
ข้อหารือ | : ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง มีงานรับจ้างที่จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งต้องขนวัสดุผ่านจังหวัดสุรินทร์เป็นประจำ รถยนต์ที่ขนย้ายวัสดุของห้างฯ ได้เติมน้ำมันของปั้ม ห้างหุ้นส่วนจำกัด ด. โดยได้รับใบกำกับภาษี/ใบเสร็จรับเงินที่เป็นต้นฉบับแต่ใบกำกับภาษี/ ใบเสร็จรับเงินดังกล่าวพิมพ์คำว่า สำเนาใบกำกับภาษี/ใบเสร็จรับเงิน ห้างฯ มีความประสงค์ที่จะ สอบถาม ดังนี้ 1. ใบกำกับภาษี/ใบเสร็จรับเงิน ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ด. ที่พิมพ์คำว่า สำเนา ใบกำกับภาษี/ใบเสร็จรับเงิน มาจากโรงพิมพ์ที่เป็นใบต้นฉบับซึ่งมิใช่แผ่นสำเนาผู้ซื้อจะสามารถขอคืน ภาษีได้หรือไม่ และนำไปเป็นค่าใช้จ่ายของห้างฯ ในการยื่นเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลปลายปีได้หรือไม่ 2. ห้างหุ้นส่วนจำกัด ด. ได้จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ การขายน้ำมันบางครั้งออกใบกำกับภาษี บางครั้งออกเป็นบิลเงินสด (แต่รูปแบบเป็นการแยกภาษีเหมือน ใบกำกับภาษี) ผู้ขายมีความผิดอย่างใดหรือไม่ 3. พฤติกรรมของผู้ขายที่เจตนาออกใบกำกับภาษีที่ผู้ซื้อขอภาษีคืนไม่ได้ เป็นใบกำกับภาษี ต้องห้ามเช่นนี้ ผู้ขายมีความผิดอย่างไรหรือไม่ |
แนววินิจฉัย | : 1. กรณีภาษีซื้อที่จะนำมาหักในการคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น จะต้องไม่เป็น ภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 17)ฯ ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2534 และ ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42) ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ.2535 ดังนั้น กรณีภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากรที่มีรายการใน ใบกำกับภาษีเป็น "สำเนาใบกำกับภาษี/ใบเสร็จรับเงิน" ตามข้อเท็จจริง ซึ่งมิใช่ใบกำกับภาษีที่ได้จัดทำ รวมกับเอกสารทางการค้าอื่นที่มีจำนวนหลายฉบับ และใบกำกับภาษีที่มีรายการในใบกำกับภาษีเป็นสำเนา มีข้อความว่า เอกสารออกเป็นชุดปรากฏอยู่ด้วย จึงเป็นภาษีซื้อต้องห้ามไม่ให้นำมาหักในการคำนวณ ภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ตามข้อ 2(7) ของ ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)ฯ ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ.2535 สำหรับหลักฐานใบเสร็จรับเงินที่จะนำมาถือเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณเพื่อเสีย ภาษีเงินได้นิติบุคคล จะต้องมีลักษณะเป็น ใบรับ ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 105 ทวิ แห่ง ประมวลรัษฎากร ดังนั้นตามข้อเท็จจริง เมื่อเป็นหลักฐานที่มีลักษณะเป็น ใบรับ ดังกล่าว และสามารถ พิสูจน์ว่าใครเป็นผู้รับได้แล้ว ย่อมมีสิทธินำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (18) แห่งประมวลรัษฎากร 2. กรณีการจดทะเบียนของผู้ประกอบการ ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะต้องแสดง ใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ ณ ที่เปิดเผยซึ่งเห็นได้ง่ายในสถานประกอบการเป็นรายสถานประกอบการ ตามมาตรา 85/4 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้นผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการสามารถตรวจสอบการ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการหรือจะขอตรวจสอบได้จากสำนักงานของสรรพากรที่รับ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 10 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการสถานบริการน้ำมันเชื้อเพลิงที่ขายสินค้า หรือให้บริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก ตามหลักเกณฑ์ในประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 54)ฯ ลงวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ.2537 ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้อง ออกใบกำกับภาษีสำหรับการขายน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีมูลค่าครั้งหนึ่งไม่เกิน 1,000 บาท เว้นแต่ผู้ซื้อสินค้า จะเรียกร้องใบกำกับภาษี 3. กรณีการออกใบกำกับภาษี ผู้ประกอบการจดทะเบียน มีหน้าที่ต้องจัดทำใบกำกับภาษี และสำเนาใบกำกับภาษีสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการทุกครั้ง โดยต้องจัดทำในทันทีที่ความรับผิด ในการเสียภาษีเกิดขึ้นพร้อมทั้งส่งมอบใบกำกับภาษีนั้นแก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ตามมาตรา 86 แห่ง ประมวลรัษฎากร เมื่อผู้ประกอบการไม่ส่งมอบใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการจะต้อง ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 90/2(3) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับกรณีการออกใบกำกับภาษีโดยมีรายการในส่วนที่เป็นสาระสำคัญไม่ครบถ้วนตาม มาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาทตามมาตรา 90(12) แห่ง ประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 63/29437 |