เลขที่หนังสือ | : กค 0811/4892 |
วันที่ | : 16 มิถุนายน 2543 |
เรื่อง | : ภาษีการค้าและภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีอายุความในการออกหมายเรียกและประเมิน ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอายุความการขอคืนภาษีการค้าที่ไม่มีหน้าที่ต้องชำระ |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 19, มาตรา 23, มาตรา 27 ตรี |
ข้อหารือ | : สรรพากรพื้นที่ได้ตรวจสอบพบว่าบริษัท ท. จำกัด ประกอบกิจการปลูกตึกแถวขายพร้อมที่ดิน ได้จดทะเบียนการค้าประเภทการค้า 11 การค้าอสังหาริมทรัพย์ แห่งบัญชีอัตราภาษีการค้า ในปี พ.ศ. 2535 บริษัทฯ ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการประกอบการค้า อสังหาริมทรัพย์ แต่ได้ยื่นแบบ ภ.ค.40 สำหรับเดือนภาษีเมษายน มิถุนายน กรกฎาคม และสิงหาคม 2535 โดยแสดงรายรับที่ต้องเสียภาษีของเดือนภาษีดังกล่าวต่ำกว่าหรือเท่ากับราคาขายตามสัญญา และ ต่ำกว่าราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ปัจจุบันบริษัทฯ ได้ จดทะเบียนเลิกบริษัทฯแต่ยังไม่ได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีสรรพากรพื้นที่จึงหารือว่า เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกและประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะของบริษัทฯสำหรับปี พ.ศ. 2535 ได้หรือไม่ กรณีที่มีอำนาจออกหมายเรียกและประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะได้ จะนำภาษีการค้าที่บริษัทฯ ได้ยื่นชำระไว้แล้วมาหักกลบลบกับภาษีธุรกิจเฉพาะดังกล่าวได้หรือไม่ และมีวิธีหักกลบลบกันอย่างไร |
แนววินิจฉัย | : 1. บริษัทฯ ประกอบกิจการปลูกตึกแถวขายพร้อมที่ดินก่อนวันที่ 1 มกราคม 2535 ต่อเนื่อง มาถึงปี พ.ศ.2535 เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ดังนั้น รายรับจาก การประกอบกิจการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 เป็นต้นไป จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่ เมื่อบริษัทฯ มิได้จดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด หากเจ้าพนักงานประเมิน ต้องการตรวจสอบไต่สวน ก็มีอำนาจออกหมายเรียกได้ภายในอายุความดังนี้ 1.1 กรณีผู้ประกอบการยื่นแบบแสดงรายการ เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจ ออกหมายเรียกได้ภายในอายุความสองปีนับแต่วันที่ได้ยื่นรายการ ไม่ว่าการยื่นรายการนั้นจะได้กระทำ ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือไม่เว้นแต่เป็นกรณีที่อธิบดีอนุมัติให้ขยายเวลาการออกหมายเรียก ดังกล่าวเกินกว่าสองปีก็ได้ แต่ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ได้ยื่นรายการตามมาตรา 19 แห่ง ประมวลรัษฎากร และมีอำนาจประเมินภาษีภายในสิบปีนับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี นั้นๆ ตามมาตรา 193/31 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 1.2 กรณีผู้ประกอบการไม่ยื่นแบบแสดงรายการ เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจ ออกหมายเรียกและประเมินภาษีได้ภายในอายุความสิบปีนับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการตาม มาตรา 23 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 193/31 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 2. ในประเด็นที่เกี่ยวกับการขอคืนภาษีการค้าที่ได้ชำระไว้ตามแบบ ภ.ค.40 ในปี พ.ศ. 2535 นั้น เนื่องจากภาษีการค้าได้ถูกยกเลิกการบังคับจัดเก็บตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 ตามมาตรา 2(1) และมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 ดังนั้น ภาษีการค้าที่บริษัทฯได้ชำระไว้ในปี พ.ศ.2535 ดังกล่าว จึงถือเป็นภาษีการค้าที่ได้ชำระไว้โดย ไม่มีหน้าที่ต้องชำระ บริษัทฯ มีสิทธิขอคืนได้ตามหลักเกณฑ์ดังนี้ 2.1 การคืนภาษีการค้าที่ได้ชำระไว้เกินกว่าที่ต้องเสีย หรือที่ได้ชำระไว้โดยไม่มี หน้าที่ต้องเสีย ผู้มีสิทธิได้รับคืนมีสิทธิขอคืนจากกรมสรรพากรได้ภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันที่ได้ชำระไว้ ตามมาตรา 164 และมาตรา 1336 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 2.2 การคืนภาษีการค้าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 ให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับคืน ผู้มีสิทธิ ได้รับคืนยังคงมีสิทธิขอคืนได้ภายในกำหนดเวลาตาม 2.1 แต่ต้องยื่นคำร้องขอคืนต่อเจ้าพนักงานประเมิน ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2537 ตามมาตรา 25(1) แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 2.3 การคืนภาษีการค้าเฉพาะภาษีการค้าที่ต้องเสียตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2534 เป็นต้นไป ให้ผู้มีสิทธิขอคืนยื่นคำร้องขอคืนภายในสามปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษี ตามที่กฎหมายกำหนดตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 4 แห่ง พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2534 กรณีจึงไม่อาจนำเงินดังกล่าวมาหักกลบลบหนี้กับภาษีธุรกิจเฉพาะที่เจ้าพนักงานจะทำ การประเมินต่อไปได้ ทั้งนี้ เจ้าพนักงานประเมินควรจะได้ประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะและอนุมัติคืนเงินภาษี ที่ไม่มีหน้าที่ต้องชำระไปพร้อมกัน เพื่อสำนักงานสรรพากรอำเภอท้องที่จะได้ดำเนินการหักกลบลบหนี้ตาม ข้อ 29 แห่งระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการคืนเงินภาษีอากร พ.ศ. 2539 ต่อไป |
เลขตู้ | : 63/29439 |