เลขที่หนังสือ | : กค 0811/4904 |
วันที่ | : 16 มิถุนายน 2543 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายและอากรแสตมป์ กรณีการนำเงินบำเหน็จไปชำระหนี้และการปิดแสตมป์บริบูรณ์สำหรับตราสาร |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 40(1), มาตรา 50(1), มาตรา 103(1), มาตรา 104 |
ข้อหารือ | : กรมบัญชีกลาง แจ้งว่า ส่วนราชการบางแห่งได้ประสบปัญหาในการปฏิบัติเกี่ยวกับการ ปิดอากรแสตมป์ตามมาตรา 118 แห่งประมวลรัษฎากร เป็นเหตุให้ทางราชการแพ้คดี และปัญหาในทาง ปฏิบัติเกี่ยวกับการหักภาษีณ ที่จ่าย กรณีการขอรับเงินบำเหน็จ ดังนี้ 1. ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาในคดีที่ส่วนราชการเป็นโจทก์ฟ้องผู้ผิดสัญญาลาศึกษาและ ผู้ค้ำประกันเป็นจำเลยฐานผิดสัญญาลาศึกษาและสัญญาค้ำประกัน โดยมีคำพิพากษายกฟ้องผู้ค้ำประกัน เนื่องจากศาลฎีกาพิเคราะห์ว่า สัญญาค้ำประกันจะต้องอยู่ภายใต้บังคับตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 คือ จะต้องปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ตามกฎหมาย การที่ส่วนราชการโจทก์มิได้ปฏิบัติบทบัญญัติกฎหมาย ดังกล่าว เป็นผลให้ไม่สามารถนำมาเป็นพยานหลักฐานในคดีได้ แม้ส่วนราชการโจทก์จะได้นำสำเนา สัญญาค้ำประกันไปปิดอากรแสตมป์และเสียเงินเพิ่มอากรแล้ว ก็เป็นการดำเนินการหลังจากศาลชั้นต้นมี คำพิพากษาแล้ว จึงใช้เป็นหลักฐานฟ้องบังคับคดีแก่ผู้ค้ำประกันไม่ได้ ซึ่งกระทรวงการคลังได้มี หนังสือเวียนแจ้งให้ส่วนราชการดำเนินการปิดอากรแสตมป์ลงบนสัญญาให้เป็นไปตามมาตรา 118 แห่ง ประมวลรัษฎากร แล้ว 2. กรณีผู้ผิดสัญญาลาศึกษาได้ขอชำระหนี้เนื่องจากผิดสัญญาลาศึกษา ด้วยการนำ เงินบำเหน็จที่มีสิทธิได้รับจากทางราชการเบิกหักผลักส่งชดใช้ให้แก่ทางราชการ ซึ่งปรากฏว่าในการตั้ง ฎีกาเพื่อเบิกหักผลักส่งเงินบำเหน็จดังกล่าว ส่วนราชการบางแห่งได้หักเงินบำเหน็จส่วนหนึ่งชำระเป็นค่า ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย แต่บางแห่งมิได้หักชำระค่าภาษีเงินได้ดังกล่าวก่อน โดยถือว่าผู้ขอรับบำเหน็จ มิได้รับเงินจำนวนดังกล่าว เป็นเหตุให้การปฏิบัติในเรื่องดังกล่าวลักลั่นไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน กรมบัญชีกลางจึงขอทราบว่า 1. ตามมาตรา 118 แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติให้ต้องปิดอากรแสตมป์สำหรับสัญญา ประเภทใดและเป็นจำนวนเท่าใด 2. สัญญารับสภาพหนี้ สัญญาผ่อนชำระหนี้ สัญญาค้ำประกันและสัญญารับทุนการศึกษา ประเภทต่างๆและหรือสัญญาของข้าราชการที่ไปศึกษาหรือฝึกอบรมในประเทศและต่างประเทศ จะต้อง ปิดอากรแสตมป์จำนวนเท่าใด และต้องดำเนินการในขณะที่มีการทำสัญญาค้ำประกันดังกล่าวเลยหรือไม่ 3. กรณีการขอรับเงินบำเหน็จจากทางราชการ และผู้รับแสดงเจตนาชำระหนี้กรณี ผิดสัญญาลาศึกษาโดยการเบิกหักผลักส่งเงินจำนวนดังกล่าวชดใช้หนี้ส่วนหนึ่งจำเป็นต้องดำเนินการหัก ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายก่อนหรือไม่ |
แนววินิจฉัย | : 1. ตราสารที่จะต้องเสียอากรแสตมป์ตามหมวด 6 ลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากรนั้น จะ ต้องเป็นตราสารที่ระบุไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ท้ายหมวด 6 ลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร โดย ลักษณะแห่งตราสารดังกล่าวต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามอัตราที่กำหนดไว้ในบัญชีนั้น ทั้งนี้ ตามมาตรา 104 แห่งประมวลรัษฎากร 2. ตามสัญญาที่กรมบัญชีกลางส่งไปเพื่อพิจารณา ได้แก่ สัญญารับสภาพหนี้ สัญญาผ่อนชำระ หนี้ สัญญารับทุนการศึกษา และสัญญาของข้าราชการที่ไปศึกษาหรือฝึกอบรมในประเทศและต่างประเทศ สัญญาดังกล่าวไม่เข้าลักษณะแห่งตราสารที่ระบุไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ดังนั้น ผู้กระทำตราสาร ดังกล่าวจึงไม่อยู่ในข่ายต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์แต่ประการใด ส่วนสัญญาค้ำประกัน เข้าลักษณะเป็นตราสารค้ำประกันตามลักษณะแห่งตราสาร 17. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ผู้ค้ำประกันจึงเป็นผู้ที่ต้องเสียอากรโดยใช้แสตมป์ปิดทับกระดาษก่อนกระทำ หรือในทันทีที่ทำตราสารเป็นราคาไม่น้อยกว่าอากรที่ต้องเสียตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ทั้งนี้ ตามมาตรา 103(1) แห่งประมวลรัษฎากร 3. การนำเงินบำเหน็จไปหักชำระหนี้กรณีผิดสัญญาลาศึกษานั้น เนื่องจากเงินบำเหน็จ ดังกล่าวต้องมีการจ่ายให้กับข้าราชการผู้รับเงินบำเหน็จก่อน แล้วจึงจะนำไปชำระหนี้ เงินบำเหน็จ ดังกล่าวจึงถือเป็นเงินได้พึงประเมินของข้าราชการผู้รับเงินบำเหน็จนั้น เงินบำเหน็จเข้าลักษณะเป็น เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อส่วนราชการได้จ่ายเงินได้พึงประเมิน นั้นให้กับผู้รับซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา ส่วนราชการมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ไว้ทุกคราวที่จ่าย เงินได้พึงประเมิน ทั้งนี้ ตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 63/29450 |