เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811(กม.04)/942
วันที่: 9 มิถุนายน 2543
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการหักค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินและภาษีเงินได้นิติบุคคล หัก ณ ที่จ่าย กรณีดอกเบี้ยเงินกู้ยืม
ข้อกฎหมาย: มาตรา 70
ข้อหารือ: บริษัท ก. จำกัด มีอาคารสำนักงานตั้งอยู่ถนนสุขุมวิท แขวงพระโขนงเหนือ เขตคลองเตย
กรุงเทพฯ และจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มประกอบกิจการขายปลีกจักรเย็บผ้าหรือเย็บวัตถุอื่น รับจ้าง
ซ่อมแซมเครื่องจักร บริษัทฯขอหารือว่า
(1) บริษัทฯ ทุบอาคารสำนักงานทิ้งเมื่อปี 2540 เนื่องจากคับแคบไม่สะดวกในการ
ประกอบธุรกิจ ได้ทำการก่อสร้างใหม่ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2540 ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปลายปี 2540
บริษัทฯ มีสิทธินำค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินที่ยังตัดไม่หมดหักเป็นค่าใช้จ่ายทั้งจำนวนในปีภาษี 2540 ได้
หรือไม่ และในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีรอบระยะเวลาบัญชี 2540 ครบกำหนดยื่น
แบบแสดงรายการภายในเดือนพฤษภาคม 2541 บริษัทฯ สามารถคำนวณค่าเสื่อมในส่วนที่เหลือได้ทั้งหมด
หรือไม่
(2) บริษัทฯ กู้ยืมเงินจากบริษัท ข. ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายประเทศ
สิงคโปร์ เพื่อวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจและก่อสร้างอาคารสำนักงานของบริษัทฯ ดอกเบี้ยเงินกู้
ยืมดังกล่าวถือเป็นรายจ่ายในการลงทุนในการคำนวณกำไรสุทธิ หรือรายจ่ายในการหารายได้ของบริษัทฯ
จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยแบบ ภ.พ.36 หรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. กรณีตาม (1) มูลค่าของอาคารที่ยังตัดไม่หมด บริษัทฯ มีสิทธินำมูลค่าของทรัพย์สิน
ส่วนที่ตัดไม่หมดไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ทั้งจำนวนในปี 2540 ที่ทุบอาคารทิ้ง
เนื่องจากรายจ่ายจากการซื้ออาคารไม่เป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนที่จะหัก
ค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาต่อไป และบริษัทฯ สามารถคำนวณค่าเสื่อมราคาอาคารตามระยะเวลาที่
อาคารสำนักงานยังคงอยู่ก่อนทุบทิ้งในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2540 ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ
(ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527
2. กรณีตาม (2) บริษัทฯ จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมให้ผู้ให้กู้ในต่างประเทศ ต้องหักภาษี
ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 ตาม (2)(ข) ของบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวด 3 ส่วน 3 แห่ง
ประมวลรัษฎากร แล้วนำส่งด้วยแบบ ภ.ง.ด.54 ภายในเจ็ดวันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายดอกเบี้ย
เงินกู้ยืมนั้นตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากรและตามข้อ 11 ของอนุสัญญาระหว่าง
รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและ
การป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มบริษัทฯ
ไม่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด เนื่องจากการให้กู้ยืมเงินของบริษัทฯ ต่างประเทศในประเทศไทย
ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และสำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่บริษัทฯ ต้องจ่ายให้ผู้ให้กู้ใน
ต่างประเทศดังกล่าวข้างต้น จะถือเป็นรายจ่ายในการลงทุน หรือรายจ่ายในการหารายได้พิจารณา ดังนี้
2.1 การกู้ยืมเงินมาเพื่อวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจของบริษัทฯ เพื่อหากำไร
หรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมดังกล่าวถือเป็นรายจ่ายในการหารายได้ของบริษัทฯ
2.2 กรณีการกู้ยืมเงินเพื่อก่อสร้างอาคารสำนักงานของบริษัทฯ ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม
ดังกล่าวที่บริษัทฯจ่ายไปในระหว่างการก่อสร้างจนถึงการก่อสร้างแล้วเสร็จหรืออาคารใช้การได้ตาม
สภาพให้ถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน ตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร จะนำ
ไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิไม่ได้ แต่มีสิทธินำไปรวมคำนวณเป็นมูลค่าของอาคารโรงงาน
เพื่อหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา ตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับ
พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527
กรณีดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต้องจ่ายไปหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จหรืออาคารใช้การได้ตาม
สภาพ ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีที่จ่ายได้
เลขตู้: 63/29480

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020