เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/5111
วันที่: 22 มิถุนายน 2543
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการขายถังเก็บบ่มสุรา
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/2, มาตรา 91/2
ข้อหารือ: บริษัทฯ ได้รับใบอนุญาตทำสุราที่มีสัญญาผูกพันกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ก่อนวันที่ 1
มกราคม พ.ศ. 2535 ในปี พ.ศ. 2536 บริษัทฯ ได้ซื้อที่ดินเพื่อสร้างอาคารและสร้างถังเก็บบ่มสุราที่
เป็นถังสเตนเลสอยู่ติดกับโรงงานรวม 11 แห่ง ต่อมาในปี พ.ศ. 2541 บริษัทฯ ได้ขายถังเก็บบ่มสุรา
บางแห่งไปพร้อมกับที่ดินและอาคาร โดยบริษัทฯ เสียภาษีธุรกิจเฉพาะจากมูลค่ารวมของที่ดิน อาคาร
และถังเก็บบ่มสุรา เพราะเข้าใจว่า ถังเก็บบ่มสุราเป็นอสังหาริมทรัพย์เช่นเดียวกับที่ดินและอาคาร
ภายหลังบริษัทฯ ได้รับข้อมูลว่า กรมสรรพากรเคยวินิจฉัยกรณีถังเก็บน้ำมันขนาดใหญ่ที่ตั้งบนฐานคอนกรีต
หรือโครงเหล็กขนาดใหญ่ ที่มีการตอกเข็มลงรากฐานมั่นคงติดตรึงไม่ให้โค่นล้มว่า ถือเป็นสังหาริมทรัพย์
ซึ่งถังเก็บบ่มสุราของบริษัทฯก็มีลักษณะเช่นเดียวกันกับถังเก็บน้ำมันที่ตั้งอยู่บนฐานคอนกรีต บริษัทฯ จึงมี
หน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายถังเก็บบ่มสุราไม่ใช่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ อย่างไรก็ดีบริษัทฯ
เข้าใจว่า บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายสุราตามสัญญาสัมปทาน จึงไม่ได้ยื่น
แบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายถังเก็บบ่มสุราแต่อย่างใด และเมื่อสัญญาสัมปทานกับ
กรมโรงงานอุตสาหกรรมสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2542 บริษัทฯ หยุดดำเนินการผลิตและ
จำหน่ายสุรา และมีนโยบายขายทรัพย์สินทั้งหมดของบริษัทฯ จึงขอหารือว่า
(1) กรณีบริษัทฯ เสียภาษีธุรกิจเฉพาะจากมูลค่ารวมของที่ดิน อาคาร และถังเก็บบ่มสุรา
บริษัทฯ มีสิทธิขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะจากมูลค่าของถังเก็บบ่มสุราได้หรือไม่
(2) กรณีบริษัทฯขายถังเก็บบ่มสุราในปี พ.ศ. 2541 และมีนโยบายขายถังเก็บบ่มสุรา
รวมทั้งทรัพย์สินอื่นๆ ที่ใช้ในการผลิตสุราตามสัญญาสัมปทานไปในปี พ.ศ. 2543 บริษัทฯมีหน้าที่ต้องเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
(3) หากบริษัทฯมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายถังเก็บบ่มสุราในปี พ.ศ.2541
บริษัทฯของดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามประมวลรัษฎากร โดยบริษัทฯยินยอมชำระภาษีให้ถูกต้องครบถ้วน
ต่อไป
แนววินิจฉัย: 1. กรณีบริษัทฯ ซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้างอาคาร และสร้างถังเก็บบ่มสุราที่เป็นถังสเตนเลสอยู่
ติดกับโรงงานสุราถังเก็บบ่มสุราไม่เป็นส่วนควบของที่ดินและอาคารโรงงานตามมาตรา 144 แห่ง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงเป็นสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 140 แห่ง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
2. กรณีบริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และได้มีการขายทรัพย์สินที่มี
ไว้เพื่อใช้ในการประกอบกิจการ ไม่ว่าทรัพย์สินดังกล่าวจะได้ซื้อมาหรือได้มาก่อนการเป็นผู้ประกอบการ
จดทะเบียนหรือไม่บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น
เมื่อบริษัทฯ ขายที่ดินอาคาร และถังเก็บบ่มสุรา บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขาย
ที่ดินและอาคารตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่มีไว้
ในการประกอบกิจการตามมาตรา 3(5) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 และมีหน้าที่
ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายถังเก็บบ่มสุรา ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจาก
เป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1(8) และ (9) แห่งประมวลรัษฎากรกรณีบริษัทฯนำมูลค่าถังเก็บบ่ม
สุราไปรวมคำนวณกับมูลค่าที่ดิน อาคาร และเสียภาษีธุรกิจเฉพาะไปแล้ว ถือว่าเสียภาษีธุรกิจเฉพาะไว้
เกินไป บริษัทฯมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนภาษีตามแบบคำร้อง ค.10 ตามมาตรา 91/11 แห่ง
ประมวลรัษฎากร
3. อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัทฯ ได้รับใบอนุญาตทำสุราที่มีสัญญาผูกพันกับกรม
โรงงานอุตสาหกรรมอยู่ก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2535 และในสัญญาดังกล่าวกำหนดให้บริษัทฯต้อง
ชำระเงินให้แก่รัฐบาลเป็นการเหมาจ่าย โดยรวมค่าภาษีสุราและค่าผลประโยชน์ด้วย ซึ่งเป็นผลทำให้
บริษัทฯ มีสิทธิเสียภาษีสุราตามอัตราเดิม ทั้งนี้ ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติสุรา (ฉบับที่ 6) พ.ศ.
2534 และทำให้บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายสุราตามสัญญาสัมปทานตั้งแต่วันที่ 1
มกราคม พ.ศ. 2535 เป็นต้นไป จนกว่าสุราตามสัญญาดังกล่าวจะหมดไป ทั้งนี้ ตามมาตรา 28(1)
แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 ดังนั้น กรณีบริษัทฯ ขายถัง
เก็บบ่มสุราในปีพ.ศ.2541 บริษัทฯจึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่ง
ประมวลรัษฎากร
4. กรณีสัญญาสัมปทานสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2542 บริษัทฯ ได้หยุดดำเนิน
กิจการผลิตและจำหน่ายสุราตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2543 และมีนโยบายจะขายทรัพย์สินทั้งหมด
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัทฯ ขายทรัพย์สินที่ใช้เฉพาะในการประกอบกิจการผลิตและขายสุราตาม
สัญญาสัมปทานซึ่งไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงไม่เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าหรือให้บริการ
ในทางธุรกิจหรือวิชาชีพ ตามมาตรา 77/1(5) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯจึงไม่มีหน้าที่ต้องเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 63/29497

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020