เลขที่หนังสือ | : กค 0811/5186 |
วันที่ | : 23 มิถุนายน 2543 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีขอคืนภาษี |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 63 |
ข้อหารือ | : บริษัทฯ ประกอบกิจการรับจ้างผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก โดยได้รับส่งเสริมการลงทุนจาก คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ดังนี้ 1. บัตรส่งเสริมการลงทุนลงวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2536 ประเภท 4.6 การผลิตหรือ ประกอบผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการ ประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมมีกำหนดเวลาสามปีนับแต่วันที่เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการนั้น ตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 2. บัตรส่งเสริมการลงทุนลงวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2539 ประเภท 6.12 การผลิต ผลิตภัณฑ์พลาสติกหรือเคลือบด้วยพลาสติก โดยให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับกำไรสุทธิที่ได้ จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมมีกำหนดเวลาสามปีนับแต่วันที่เริ่มมีรายได้จากการ ประกอบกิจการนั้น ตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 3. บัตรส่งเสริมการลงทุนลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 ประเภท 6.12 การผลิต ผลิตภัณฑ์พลาสติกหรือเคลือบด้วยพลาสติก โดยให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้ จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมมีกำหนดเวลาเจ็ดปีนับแต่วันที่เริ่มมีรายได้จากการ ประกอบกิจการนั้น ตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 บริษัทฯ รับจ้างผลิตชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ตามแบบและรายละเอียดของบริษัทผู้ว่าจ้าง และถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 3 เตรส แห่ง ประมวลรัษฎากร ตั้งแต่ปี 2535-2542 กรณีดังกล่าวบริษัทฯ หารือสำนักงานสรรพากรจังหวัดว่าบริษัทฯ อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย หรือไม่ ซึ่งได้รับคำตอบว่ากรณีบริษัทฯ ประกอบกิจการรับจ้าง ผลิตชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการ รับจ้างผลิตผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกับผลิตภัณฑ์ที่บริษัทฯ ได้รับส่งเสริมการลงทุน รายได้ที่เกิดจากการรับจ้าง ถือเป็นรายได้จากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน และได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตลอด ระยะเวลาที่ได้รับการส่งเสริม ดังนั้น บริษัทฯ จึงไม่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตาม คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.19/2530 ฯ ลงวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2530 บริษัทฯ จึงขอทราบว่ากรณี ดังกล่าวบริษัทฯ มีสิทธิขอคืนภาษีจำนวนที่ถูกหักไว้ตั้งแต่ปี 2535-2542 หรือไม่ เพราะเหตุใด และบริษัทฯ มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนภาษีภายในกำหนดเวลาใด |
แนววินิจฉัย | : 1. วันเริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติ ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 หมายถึงวันที่เริ่มมีรายได้จากกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน ไม่ว่าจะ ได้รับเงินหรือได้รับชำระราคาแล้วหรือไม่ แต่การประกอบกิจการดังกล่าวต้องไม่เกิดขึ้นก่อนวันที่ได้รับ อนุมัติให้ได้รับสิทธิและประโยชน์ตามที่ระบุไว้ในบัตรส่งเสริม กรณีตามข้อเท็จจริงบริษัทฯ ได้รับส่งเสริมการลงทุนโดยได้รับสิทธิและประโยชน์ให้ได้รับ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ดังนั้นรายได้ของบริษัทฯ จากการผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และผลิตภัณฑ์พลาสติก จึง เป็นรายได้จากกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลนับแต่วันที่เริ่มมี รายได้จากการประกอบกิจการจนครบกำหนดระยะเวลาที่ได้รับการส่งเสริม กรณีดังกล่าวผู้จ่ายเงินค่า รับจ้างผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และผลิตภัณฑ์พลาสติก ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตาม คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.19/2530 ฯ ลงวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2530 2. กรณีบริษัทฯ ไม่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แต่ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และนำส่งแล้ว บริษัทฯ มีสิทธิยื่นคำร้องของคืนภายในสามปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งรอบระยะเวลาบัญชี ตามมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 63/29500 |