เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811(กม.02)/1022
วันที่: 19 มิถุนายน 2543
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการหักลดหย่อนบุตรที่เกิดจากคู่สมรสใหม่
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(1), มาตรา 47(1)(ค), มาตรา 47 (2)
ข้อหารือ: ผู้มีเงินได้มีบุตรกับภริยาคนแรก (ภริยาถึงแก่กรรมแล้ว) ไม่ว่าบุตรนั้นเกิดก่อนหรือหลัง
พ.ศ.2522 เป็นจำนวนตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ต่อมาในปี พ.ศ.2530 ผู้มีเงินได้ได้สมรสใหม่ มีบุตรเกิดกับ
ภริยาใหม่อีก 3 คน จึงหารือว่า
(1) กรณีสามีฝ่ายเดียวมีเงินได้
(ก) บุตรที่เกิดกับภริยาคนแรกบรรลุนิติภาวะแล้วทุกคน ผู้มีเงินได้มีสิทธินำบุตรที่
เกิดกับภริยาใหม่มาหักลดหย่อนทดแทน เมื่อรวมกันแล้วไม่เกินกว่า 3 คน ใช่หรือไม่
(ข) ถ้าบุตรตาม ก บางคนยังไม่บรรลุนิติภาวะผู้มีเงินได้มีสิทธินำบุตรที่เกิดกับ
ภริยาใหม่มาหักลดหย่อนทดแทนเมื่อรวมกันแล้วไม่เกินกว่า 3 คน ใช่หรือไม่
(2) กรณีสามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้และขอแยกยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้
ประจำปี โดยต่างฝ่ายขอหักลดหย่อนบุตรของตนเองคนละ 15,000 บาท สำหรับบุตรที่ยังไม่
บรรลุนิติภาวะของแต่ละฝ่ายจะได้หรือไม่
แนววินิจฉัย: (1) กรณีสามีฝ่ายเดียวมีเงินได้ ผู้มีเงินได้ (สามี) มีบุตรชอบด้วยกฎหมายทั้งที่เกิด
ก่อนหรือใน พ.ศ.2522 และที่เกิดหลัง พ.ศ.2522 หักลดหย่อนสำหรับบุตรได้คนละ 15,000 บาท โดย
ให้นำบุตรที่เกิดก่อนหรือใน พ.ศ.2522 มาหักก่อน แล้วจึงนำบุตรที่เกิดหลัง พ.ศ.2522 มาหัก เว้นแต่
ในกรณีผู้มีเงินได้ (สามี) มีบุตรที่เกิดก่อนหรือใน พ.ศ.2522 ที่มีชีวิตอยู่รวมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป จะนำ
บุตรที่เกิดหลัง พ.ศ.2522 มาหักไม่ได้ แต่ถ้าบุตรที่เกิดก่อนหรือใน พ.ศ.2522 มีจำนวนไม่ถึงสามคน
ให้นำบุตรที่เกิดหลัง พ.ศ.2522 มาหักได้โดยรวมกับบุตรที่เกิดก่อนหรือใน พ.ศ.2522 แล้วต้องไม่เกิน
สามคน
การนับจำนวนบุตรให้นับเฉพาะบุตรที่มีชีวิตอยู่ตามลำดับอายุสูงสุดของบุตรโดยให้นับรวมทั้ง
บุตรที่ไม่อยู่ในเกณฑ์ได้รับการหักลดหย่อนด้วย
การหักลดหย่อนสำหรับบุตรให้หักเฉพาะบุตรซึ่งมีอายุไม่เกินยี่สิบห้าปีและยังศึกษาอยู่ใน
มหาวิทยาลัยหรือชั้นอุดมศึกษาหรือซึ่งเป็นผู้เยาว์ ทั้งนี้ ตามมาตรา 47 (1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร
(2) กรณีสามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ การหักลดหย่อนสำหรับบุตร กรณีสามีมี
เงินได้ ได้แก่ บุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีผู้มีเงินได้ กรณีภริยามีเงินได้ได้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายของ
ผู้มีเงินได้ รวมทั้งบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีของผู้มีเงินได้ โดยต่างฝ่ายต่างหักได้กึ่งหนึ่งตามเกณฑ์ที่
กำหนดไว้ในมาตรา 47(1)(ค) ทั้งนี้ตามมาตรา 47(2) แห่งประมวลรัษฎากร
กรณีภริยามีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) ไม่ว่าจะมีเงินได้พึงประเมินอื่นด้วย
หรือไม่ ภริยาจะแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามีเฉพาะส่วนที่เป็นเงินได้พึงประเมินตาม
มาตรา 40(1) โดยมิได้ถือว่าเป็นเงินได้ของสามีตามมาตรา 57 ตรี แห่งประมวลรัษฎากรก็ได้ ในกรณี
ที่ภริยาแยกยื่นรายการให้สามีและภริยาต่างฝ่ายต่างหักลดหย่อนสำหรับบุตร ที่หักลดหย่อนได้ตามอัตราที่
กำหนดไว้ในมาตรา 47(1)(ค) คนละกึ่งหนึ่ง ทั้งนี้ตามมาตรา 57 เบญจ (2) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 63/29501

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020